วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ละครที่ว่าด้วยเรื่องผู้พิพากษา Miss Hammurabi

ถ้าเขียนบล็อกเรื่องวิชาการ เราจะใช้เวลานานมากกว่าจะกลั่นกรอง ตรวจทาน เขียนเสร็จสักหนึ่งโพส ก็เลยทำให้นานๆทีถึงจะได้อัพบล็อก  แต่ว่าวันนี้ เพิ่งจะดูละครจบ แต่อารมณ์ของคนดูไม่จบ แล้วก็คิดว่า อยากจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ ก็เลยขอเขียนไปเรื่อยๆ ปล่อยความคิดตัวเองสักพัก คงไม่ว่ากันนะคะ  :)

เคยดูละครที่มีเนื่อเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็จะสะท้อนให้แง่คิดในมุมต่างๆกัน แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นละครที่เน้นบทบาท ทนาย หรืออัยการ เสียมากกว่า ล่าสุดเราเพิ่งจะได้ดูละครเกาหลี เรื่อง Miss Hammurabi  ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราเคยดู ที่เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้พิพากษา  จะเน้นที่บทบาทของผู้พิพากษา และสังคมการทำงานในศาล  รวมถึงความยุติธรรมในสังคม

เรื่องนี้ดูแล้วไม่เครียดนะคะ แต่ว่าจะออกแนวสะท้อนสังคมเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว ถ้าใครเป็นคนอินง่ายๆ(เหมือนเรา) อาจจะเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งใจกับหลายๆตอน และก็มีมุขตลกแทรก มีเรื่องความรักของตัวเอก  บวกกับความน่ารักของตัวละคร ทำให้เนื้อหาไม่หนักจนเกินไป (เรื่องความรักของตัวเอกในเรื่องทั้งสองคู่ ก็นำเสนอได้น่ารักมากค่ะ สอดแทรกมาเรื่อยๆในทุกตอน)

เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือว่า นางเอกหรือผู้พิพากษาพัค เข้ามาทำงานเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายซ้าย ของศาลแขวง อยู่แผนกคดีแพ่ง 44 ที่มี ผู้พิพากษาฮัน (มีนิสัยขี้โวยวาย ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ชอบประจบ) เป็นหัวหน้าแผนก  และมีพระเอกหรือผู้พิพากษาอิม เป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายขวา

ซึ่งนิสัยของคนทั้งสามคนนี้ จะค่อนข้างแตกต่างกัน ก็เลยทำให้มีความวุ่นวายๆอยู่ในแผนก 44  แต่ด้วยความต่างอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กับทุกๆคนที่นั่น

ละครเรื่องนี้ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีแพ่งต่างๆ ซึ่งละครไม่ได้เน้นในการให้ความรู้ด้านกฎหมาย แต่เน้นเรื่องบทบาทผู้พิพากษามากกว่า (อย่างที่เห็นว่า ผู้พิพากษาทั้งสามคนนั้น มีแนวคิดค่อนข้างแตกต่างกัน)
และยังมีเรื่องสังคมการทำงาน ที่ทำให้ต้องกระทบกระทั่งกับผู้พิพากษาคนอื่นๆนอกแผนกอีก


ทีนี้เราจะใส่ความเห็นส่วนตัวของเรากับละครเรื่องนี้แล้วนะคะ
ถ้าดูตอนแรกๆเนี่ย อาจจะรำคาญนิสัยนางเอกอยู่บ้าง เพราะดูแล้วละครอยากจะโชว์ด้านที่นางเอกเป็นคนประเภท ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่ยอมคน และเป็นพวกเฟมินิสต์

ซึ่งเราก็เห็นด้วย ในช่วงแรกๆที่หลายๆฉากที่เขียนบทนางเอกให้น่ารำคาญเกินไป คนอะไรจะตอบโต้คนอื่นไปเสียทุกเรื่อง จนแทบจะออกแนวขวางโลกอยู่แล้ว

แต่ถ้าตัดตรงนี้ออก ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าบทจะเน้นให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของนางเอก(หรืออาจเรียกได้ว่าแทบจะยุ่งไปทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในสายตา) เป็นคนที่ถึงจะผ่านเรื่องร้ายๆแต่ก็ยังมองโลกในแง่ดี  และด้วยการที่มีนิสัยไม่ยอมอยู่เฉยของเธอ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนในองค์กร ในสังคมรอบๆตัวเธอ

ส่วนพระเอก เป็นคนที่ไม่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น ตัดสินกันด้วยพื้นฐานของกฏหมาย ไม่เอาอารมณ์หรือความเห็นส่วนตัวเข้าไปเกี่ยว ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้าย ด้วยเพราะเจอคนมามาก และส่วนใหญ่จะเห็นแต่ความโลภ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

หัวหน้าฮัน เป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามาก รู้ว่าจังหวะไหนควรจะโวยวาย จังหวะไหนควรจะอยู่เฉยๆ จึงทำให้ภายนอกดูเหมือนเขาไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ดูเหมือนผู้พิพากษาแก่ๆที่หมดไฟ ทำงานไปตามหน้าที่และธรรมเนียมสังคมในที่ทำงาน


เราดูตอนแรกๆแล้วก็ติดหนึบเลยเพราะว่า  เราชอบที่  บทส่งให้นางเอกเป็นพวกกล้าแหกปากต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมหรืออะไรก็ตามแต่  ในขณะที่พระเอกเองถึงจะไม่แสดงออกมา แต่ก็เห็นด้วย และรู้สึกดี ในใจคือสนับสนุนนิสัยกบฎที่นางเอกทำ

และต่อๆมาเราจะเห็นว่า นิสัยวู่วามของนางเอกสร้างปัญหามากมาย ด้วยที่ว่าสิ่งที่เธอทำ เปรียบได้ว่า จะไปใช้ไม้แข็ง ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเสียผลประโยชน์ รับไม่ได้กับที่เธอทำ

ส่วนพระเอกจากเดิม จากแค่เห็นด้วยในใจ ต่อๆมาก็กลายมาเป็นคนคอยแก้ไขปัญหาให้นางเอก ส่วนใหญ่ช่วยอยู่เบื้องหลัง (และก็เริ่มช่วยต่อหน้าแล้วตอนหลังๆ) จนหลายๆครั้งพระเอกก็ต้องตกที่นั่งลำบากไปด้วย

รวมถึงหัวหน้าฮัน ที่จากเดิมแค่คอยดูอยู่ห่างๆ ตอนหลังๆก็จะมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ในแบบฉบับของผู้พิพากษาที่เป็นผู้ใหญ่


เราชอบตรงที่ ความคิดและการกระทำของนางเอกหลายๆทีก็คือดี แต่มันก็มีด้านที่เป็นผลกระทบที่ไม่ดีตามมาด้วย ซึ่งเธอคิดไม่ถึง  ในขณะที่พระเอกจะคอยห้าม คอยเตือน แบบให้ความคิดตรงกันข้าม (ทำให้นางเอกไม่ค่อยฟังไง เพราะเหมือนจะทำให้พระเอกอยู่ฝั่งตรงกันข้ามไปเสียทีเดียว ) หัวหน้าฮัน ก็จะใช้ประโยคสั้นๆคอยตักเตือน ชี้ให้เห็น จุดที่เป็นข้อเสีย

ละครก็จะทำให้นางเอกพลาดไปก่อน แล้วก็จะมาคิดได้  ถึงผลกระทบของการกระทำของตัวเอง
และพระเอกกับหัวหน้าฮัน  ก็จะเห็นข้อดี ของการกระทำของนางเอก อีกเช่นกัน

ดังนั้น ก็เลยทำให้ความแตกต่างของทั้งสามคนนี้ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่ทีมนี้ แต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องของนางเอกเช่นกัน


พูดถึงเรื่องบทบาทผู้พิพากษา มีหลายๆตอน หลายๆคำพูดที่ทำให้เราประทับใจ
ที่พระเอกพูดถึงเรื่อง ผู้พิพากษาต้องตัดสินถูกผิดตามปริบทของกฎหมายเท่านั้น
ทั้งการที่ ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะฟ้องร้อง หรือตัดสินใดๆ
ทั้งการที่ ต้องไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสิน แต่ต้องมีความเป็นกลาง
ทั้งการที่ นางเอกทำไม่ถูกกฎที่เข้าไปยุ่งกับป้าที่มายืนประท้วงหน้าศาลต่อคดีที่ตัดสินไปแล้ว เพราะว่าตรงนี้ต้องเป็นทนายที่จะแนะนำให้ป้ายื่นอุทรณ์ แต่ว่านางเอกมองว่า ก็ป้าไม่รู้ ถ้าไม่มีคนเข้าไปให้คำแนะนำป้าจะรู้หรอ

เพราะนางเอกยึดมั่นว่า จะต่อต้านคนที่มีอำนาจและช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า  จะมีตอนท้ายประโยคเด็ดที่หัวหน้าฮันบอกนางเอกว่า  คนที่มีอำนาจมากที่สุดในศาลคือผู้พิพากษา และผู้พิพากษานี่แหละที่เป็นคนที่น่ากลัวที่สุด  หากใช้อำนาจผิดๆ

คือเรื่องนี้กล้ามาก ที่สะท้อนให้เห็นผู้พิพากษาหลายๆแบบ ที่ทั้งทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือคน และเพื่อลาภยศชื่อเสียงของตัวเอง อันที่จริงละครนี้ดีอีกจุดที่ จะทำให้เห็นว่าคนเราไม่ได้มีแต่ดีอย่างเดียว หรือเลวอย่างเดียว คือจะมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีผสมๆกันไป  ดังจะเห็นจากผู้พิพากษาหลายๆคนในเรื่อง  (ยกเว้นทีมนางเอกที่ค่อนข้างจะโชว์ให้เห็นมิติด้านที่ดี มากกว่าข้อเสียนะคะ)


มีตอนนึงที่นางเอกพูดประมาณว่า "ถ้ารู้ว่าเป็นผู้พิพากษาแล้วทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ ถ้ารู้แบบนี้จะไม่มาเป็นผู้พิพากษาดีกว่า"  ประโยคนี้กินใจมากๆเลยค่ะ  และยิ่งมีตอนที่ให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้พิพากษาแล้วยังหาความยุติธรรมแม้แต่ในองค์กรตัวเองไม่ได้ จะยังเรียกว่าตัวเองเป็นผู้พิพากษาได้อีกหรอ


 จุดหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจ และจำได้แม่นเพราะรู้สึกว่ามันสะท้อนความจริงมากๆ  คือ
มีตอนที่นางเอกพยายามจะฟ้องผู้พิพากษาที่ไม่ดี  แล้วพระเอกก็ห้ามไว้ เพราะเห็นว่านางเอกจะมีปัญหาทีหลัง แต่สุดท้ายก็คอยช่วยเหลือ  มีประโยคนึงหัวหน้าฮันพูด แล้วเรารู้สึกว่ามันสะท้อนความจริง เขาพูดประมาณว่า  "เธอไม่รู้หรอว่า ไม่ควรจะไปสู้กับคนไม่มีความละอายใจ"


เราเห็นด้วย เพราะว่าคนที่ไม่มีความละอายใจ จะไม่รู้สึกผิด หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ตรงกันข้าม เขาจะพยายามดิ้นรนหาทาง เพื่อจะเอาตัวรอดอย่างเดียว ไม่ว่าเราจะไปพูดอะไรยังไง มันก็เหมือนกับการไปปาไข่กระทบก้อนหิน

ซึ่งจะมีประโยคที่พระเอกมักจะคิดในใจบ่อยๆ และเราชอบมากคือ

"อาจจะดูเหมือนเอาไข่ไปกระทบก้อนหิน แต่บางครั้ง มันก็เปลี่ยนโลกได้ ถ้ามีใครสักคนตั้งคำถาม คำถามเหล่านั้น ไม่มีใครเคยถามทั้งๆที่...ควรจะถาม
เมื่อไหร่ที่เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังตกสู่พื้นดิน ที่ไหนสักที่...."

ละครเรื่องนี้ พยายามจะให้เป็นละครที่ทั้งสมจริง เพราะหลายๆครั้ง คนที่เรามองว่าควรจะได้รับความยุติธรรมมากกว่านี้ ก็ไม่ได้อย่างที่เราหวัง   แต่ก็ยังเป็นละครที่ให้ความหวัง ให้คนยังเชื่อในความยุติธรรมของกฎหมาย  ให้คนยังคงมองโลกนี้ว่า ถ้าทำดี เราจะได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ก็เลยทำให้ตอนหลังไข่ที่ปาหิน มันก็ยังมีรอยเปื้อนบนหินให้เห็นบ้าง ถึงแม้ว่า คนไม่ดีจะยังไม่ได้รับผลของการกระทำที่ไม่ดีให้เห็นชัดๆ ในตอนนี้ แต่ก็ต้องได้สะเทือนบ้าง

อย่างที่พระเอกพูดประโยคหนึ่งกับตัวโกง(หรือพระรอง) ที่พยายามจะใช้ทุกวิธีที่ทำให้คนในครอบครัวพ้นจากความผิดทางกฎหมาย  ว่า... แล้ววันหนึ่งคุณจะต้องคุกเข่าก้มหัวให้กับ กฎหมาย 

อันนี้เป็นความเห็นของเราเองนะคะ.....
ถึงแม้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เปลี่ยนแปลงไปตามปริบทของสังคม อาจจะใช้วัดเพื่อชี้ความถูกผิดที่แน่นอนไม่ได้ทั้งหมด  แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่มนุษย์พยายามจะสร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องและทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างนึง ที่ปกป้องความยุติธรรมในสังคมได้ในระดับหนึ่ง

ถ้าคนไม่เชื่อในกฏหมายเลย  ไม่มีความยุติธรรมในกฎหมายให้เป็นที่พึ่ง แล้วคนเราจะขาดกำลังใจกันขนาดไหน  สังคมคงจะวุ่นวายน่าดูเลยนะคะ  

สรุป เราชอบละครเรื่องนี้มากๆเลยค่ะ โดยรวมชอบแง่มุมที่ละครนำเสนอ  รู้สึกซาบซึ้งกินใจมากๆ ในหลายๆตอน ในหลายๆการกระทำของตัวละครในเรื่อง   ทำให้เห็นว่า ถึงแม้การทำความดีนั้นจะยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำความดีลงไป วันนึง..สักวันนึง ความดีนั้นจะส่งผลแน่นอนค่ะ :)