วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๔

 สวัสดีปีใหม่ ปี ๒๕๖๔ ทุกๆคนนะคะ 💕


ปีนี้มากล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ ช้าไปหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเดือนแรกของปี หวังว่าจะยังทันเทศกาลนะคะ

เนื่องจากมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรา (คิดว่ารวมถึงเพื่อนๆทุกคน) คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง และตั้งรับกับสถานการณ์นี้กันทั้งนั้น  ตัวเราเองก็มีทั้งเรื่องที่ทำให้ยิ้ม ทำให้ดีใจ ทำให้หัวเราะ และทำให้ร้องไห้  แต่ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ยังไง  เราเองก็พยายามน้อมนำคำสอนของพระที่เราเคารพท่านนึงสอนไว้ค่ะว่า  "คนเรามักจะพอใจกับสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นและอยากให้เกิดอีก แต่ไม่อยากให้สิ่งไม่ดีเกิดซ้ำ ซึ่งที่จริงแล้วเราไม่ควรจะไปยึดติดไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชีวิตเหมือนความฝัน...อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป"  😊

มันอาจจะเป็นเรื่องยากต่อการดำรงชีวิต แต่ว่าถึงแม้จะยาก ถ้าเรามีความตั้งใจดี ทำในสิ่งที่ดีต่อตนเองและต่อผู้อื่น ... ความมั่นคงในจิตใจของเรา จะทำให้เราผ่านความยากนี้ไปได้ค่ะ ...เราเชื่อแบบนั้น

ทั้งๆที่ปีที่ผ่านมานี้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และโดยธรรมเนียมเราจะมีการตั้งเป้าหมายสิ่งที่อยากทำของแต่ละปีไว้ ... ปีนี้เราไม่รู้จะเล่าอะไรดีเลยค่ะ  อยากจะบอกแค่ว่าเป้าหมายของปีที่แล้วเราพยายามได้ดีขึ้นค่ะ ถึงจะไม่สำเร็จทั้งหมดก็ตามที ... ส่วนในปีนี้ เราจะไม่ละทิ้ง และจะพยายามทำให้ดีขึ้นค่ะ 

รูปนี้เราถ่ายตอนแสงพระอาทิตย์ตอนเย็นกำลังสาด เห็นว่าสวยดี แสงอาทิตย์ในภาพอบอุ่นดีค่ะ ก็เลยขอใช้รูปนี้สำหรับปีใหม่นี้ (ใช้มือถือถ่ายรูปไม่เก่ง อาจจะไม่สวยมากเท่าที่เห็นด้วยตานะคะ) 

สุดท้ายอยากกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่นะคะ  เรามาตั้งใจทำสิ่งดีๆ ดูแลและคอยสนับสนุนคนที่เรารักและอยากปกป้องกันเถอะค่ะ  :)

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๓


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๓ ทุกๆคน นะคะ




อาจจะดูเหมือนเป็นการกล่าวคำสวัสดีปีใหม่ที่ช้าไปหน่อย แต่ยังอยู่ในเดือนมกราคม หวังว่าจะยังกล่าวคำนี้ได้นะคะ 😅   

ตามธรรมเนียมปกติแล้ว เราจะทบทวนตัวเองในทุกๆครั้งที่ผ่านปี และตั้งเป้าสิ่งที่อยากจะทำในปีถัดไป สำหรับปีที่ผ่านมา พอมองย้อนไปแล้ว เราพบว่าเราไม่สามารถทำตามสัญญาใจตัวเองได้เลยค่ะ คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเหมือนเราไม่มีความตั้งมั่นรักษาสัจจะมากพอ  ตั้งใจไว้แต่ไม่ทำจริง เราไม่ค่อยชอบนิสัยนี้เลยค่ะ  

เราจึงมีความตั้งใจเดียวในปีนี้คือต้องรักษาคำพูดและความตั้งใจทำสิ่งที่ดีๆของตัวเองให้ได้ค่ะ เราอยากจะเป็นคนที่ลงมือทำได้มากกว่าพูดค่ะ

อีกเรื่องก็คือ ปีที่แล้วมีเหตุการณ์คือบุคคลที่เราเคารพนับถือดั่งครูอาจารย์ได้จากไป  ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน ที่มีคนที่เรารักจากไปถึงสามคน ในปีเดียวกัน   โดยที่เราไม่ได้มีโอกาสใช้เวลาทำสิ่งดีๆให้  ซึ่งคำว่าไม่มีเวลานั้นเป็นเพียงเพราะเราไม่จัดเวลา ไม่หาทางออกให้กับคำว่าไม่มีเวลานั่นเองค่ะ เพราะจริงๆแล้วถึงตัวจะไม่ได้พบ แต่ก็ยังสามารถติดต่อทางอื่นได้เช่นกัน 

ครั้งนี้ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า การที่เราประมาทแบบนั้นทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้แสดงความรัก ความเคารพกับบุคคลที่มีพระคุณกับเรา  .... และก็ทำให้คิดได้ว่าเมื่อบุคคลที่เรานับถือไม่อยู่ เราก็เหมือนขาดผู้ให้คำที่ปรึกษาที่ดี  ที่เราสามารถพูดคุยไต่ถามพบหน้าได้  .... เราไม่อยากประมาทอีกแล้วค่ะ

เราชอบรูปจิฮิโระ จากเรื่อง spirited away รูปนี้มากค่ะ เพราะว่า เราชอบกินซาลาเปามาก (จริงๆชอบหมั่นโถว กับซาลาเปาไส้ถั่วมากที่สุด)  55555 เหมือนจะไม่มีเหตุผลเรยเนาะ

และเราชอบความรู้สึกของจิฮิโระในตอนนี้... คือถึงแม้จะเจอเรื่องสับสนวุ่นวาย ยากลำบากขนาดไหน เธอก็ยังคงมีจิตใจที่ดีงาม และไม่ย่อท้อกับอุปสรรค  ... เธอไม่ได้ต้องการอะไรเลยกับสิ่งที่เธอทำลงไปทั้งหมด  และเพราะจิตใจที่ดีกับความพยายามที่ดีของเธอ ทำให้เธอได้รางวัลเป็นยาเม็ด(ที่ถือในมือขวา) ซึ่งผลตอบแทนนี้ กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือคนที่รักได้ต่อไป

เราก็หวังว่า ต่อจากนี้เราจะพยายามทำแต่สิ่งที่ดีและมีความกล้าเหมือนจิฮิโระค่ะ  เผื่อว่าเราจะได้รางวัลตอบแทนเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือคนอื่นๆ รวมถึงบุคคลที่เรารักได้เช่นกัน

สุดท้ายขอกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่อีกครั้งนะคะ  ขอให้ทุกๆคนมีความสุขมากๆนะคะ   :)


วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

Hello May! กับบทสนทนาแบบ argumentation

Hello May ! 


อาจจะงงๆว่า เอ... ทำไมถึงใช้รูปนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหัวข้อที่โพสเลยนะคะ
อันที่จริงก็คือ รูปนี้คือ รูปแรกที่ถ่ายของวันนี้ ในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ค่ะ เพราะอยากจะให้ตรงกับหัวข้อโพส Hello May!  ดังนั้น เราก็เลยสวัสดี พฤษภาปีนี้ด้วยทุเรียนหมอนทอง หวานกรอบ อร่อยๆ ค่ะ 😋


ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปนานมากๆเลย ทั้งที่คิดว่าจะต้องอัพเดือนละโพสต้องขอโทษด้วยนะคะ มีภาระกิจหนักเยอะมากจริงๆ

วันนี้ ขึ้นต้นเดือนพฤษภา เราพอจะมีเวลาบ้าง ก็เลยอยากจะให้ของขวัญตัวเอง ด้วยการเขียนบล็อกสักเรื่อง  และพอดีว่า เพิ่งจะคุยแชทกับเพื่อนจบไปแล้ว มีประโยคสนทนาขำๆ ที่คิดว่าน่าสนใจ  สามารถนำมา เสนอในรูปแบบของ practical reasoning ด้วยแนวทางของ argumentation ได้ค่ะ


งั้นเรามาลองดูกันนะคะว่า บทสนทนาขำๆ วันนี้มีว่าอย่างไร (ขอใช้ภาษาวิบัติ เพื่อความสมจริง)

M1:       ทำไมวันนี้เธอตื่นเช้าจังเลยล่ะ
A1:       ไม่เช้าแล้วค่ะ สายแร้ว
M2:       อ้าว ตอนนี้ไม่ใช่เกือบเก้าโมงเช้าหรอ
A2:       เก้าโมง นี่เช้าหรอคะหญิงมดดี้ ตายแระ
M3:       ฮ่าๆๆ ช่ายเรย  สำหรับชั้นไง
M4:       แล้วนี่เธอทำอะไรอยู่
A3:       เพิ่งตื่นค่ะ
M5:      ว๊าย... ตื่นสายนะเธอ
A4:       อ่าว เมื่อกี๊ยังบอกเช้าอยู่เลย
M6:      55555555 (เขิล)


เอาล่ะค่ะ บทสนทนานี้มันคือความโก๊ะของเราเองที่มักจะเป็นแบบนี้ประจำ อยากแกล้งคนอื่นแต่ก็เข้าตัวเองตลอดๆ

ลองสังเกตบทสนทนานี้ดีๆนะคะ จะพบว่า ในความเข้าใจของเราตอนแรก การตื่นนอนตอน 9.00 น. นี่คือ ตื่นเช้า ในขณะที่เพื่อน จะมองว่าเป็นการตื่นสาย (เพราะเพื่อนต้องการจะแซวเราฮ่าๆๆ)  แต่เมื่อคุยกันต่อ เราเองกลับเปลี่ยนประโยคว่า การตื่น 9.00 น. คือการตื่นสาย


คำถามคือ เราจะทำการ โมเดลในระบบ เพื่อให้ได้ เซตของ accepted argument ได้ไหม ทำได้อย่างไร
หรือ พูดอีกอย่างก็คือ  เราจะสร้างโมเดลของ argument เพื่อทำ การคิดหาเหตุผลได้หรือไม่

Can we provide a formal model of argument systems for practical reasoning ?


ถ้าเราจะลอง formalize บทสนทนานี้ ด้วย argumentation ก็สามารถทำได้ โดยจะใช้ AA หรือ ABA แบบที่เคยอธิบายไปคร่าวๆแล้วนะคะ  ถ้าหากยังจำได้ ABA เนี่ย โครงสร้างของ argument จะมีเฉพาะ ส่วนของ assumption เท่านั้นที่เราจะ attack ได้ ซึ่งเราจะเรียกการ attack แบบนี้ว่า undermine

เพื่อความเข้าใจก่อนอื่นเลย เราจะโชว์ให้เห็นว่า ถ้า formalize บทสนทนานี้ในรูปแบบของ AA คือ argument ไม่มีโครงสร้างอะไรพิเศษ เราแค่กำหนดว่า argument ไหน attack ใครก็พอ

เราจะสามารถวาดแผนผังการตีกัน(ฮ่าๆๆ attack relation) ของ argument ได้ดังนี้ค่ะ
ซึ่งเราตัด ประโยคท้ายสองประโยคออก เนื่องจากไม่ได้สื่อความหมายอะไรพิเศษนะคะ

จะเห็นว่าในแผนผัง argument M2, M4, A3 จะอยู่แยกออกมา ไม่ได้ attack ใคร เนื่องจากให้ความหมายเหมือนๆกันก็คือ A ตื่นนอนเวลา 9.00 น.

ส่วน A1, A2 นั้น จะทำการ attack ฝั่งตรงข้ามก็คือ M1, M3  และในขณะเดียวกัน M1, M3 ก็ attack A1, A2 ด้วยเช่นกัน

แต่ทีนี้ ถ้าดู M5 จะพบว่า M5 attack M1,M3  ซึ่งก็แน่นอนว่า M1,M3 ก็ attack กลับได้

ถ้าหากว่ายังจำ นิยามของ acceptability of arguments  จากที่เคยเกริ่นเรื่อง Abstract argumentation ได้ ก็จะเห็นว่า เซตของ acceped arguments นั้นจะต้อง ไม่ขัดแย้งในตัวเองและ attack ข้อโต้แย้งอื่นๆได้หมด

ถ้าหากว่าเรา ทำการหา prefer semantic  ก็จะได้ออกมา 2 set คือ
{A1, A2, M5 , M2, M4, A3}และ {M1, M3, M2, M4, A3}
นั่นก็หมายความจะเลือก เชื่อฝั่งไหนก็ได้  ว่า การตื่นเก้าโมงเป็นการตื่นเช้า หรือจะเชื่อว่า เป็นการตื่นสายก็ได้

ถ้าหากว่าหา grounded semantic ก็จะได้ เป็น empty set


ขอโน้ตไว้นิดนึงนะคะว่า แต่ถ้าหากว่าเรานับ argument  A4 เข้าไปด้วย แล้วให้ A4 attacks  M5 จะกลายเป็นว่า เรามี prefer semantic = grounded semantic ซึ่งก็คือ  {A1, A2, M5 , A4,  M2, M4, A3 }ค่ะ



แต่พอดีว่า เราอยากให้เห็นกรณีว่า agent (ตัวบุคคล) นั้น ขัดแย้งในตัวเอง เลย ไม่พิจารณา A4 เข้าไปนะคะ


 ถ้าหากว่า เรามาพิจารณาเซตของการให้เหตุผล  จากตัวผู้พูดล่ะคะ (ขอไม่รวม M2,M4,A3 ก่อนนะคะ  เพื่อไม่ให้สับสนตัวบุคคล )
เซตของ argument ของ A จะมี {A1, A2} ซึ่ง conflict free และ attack ทุกการ attack ที่มาจากข้างนอก
ก็เป็น acceptable set  of arguments

แต่ส่วนเซตของ argument ของ M มี { M1, M3, M5 } เป็นเซตที่ ไม่ conflict free เพราะ M5 attack เซตตัวเอง ดังนั้น ไม่ใช่ acceptable set of arguments

ก็จะเห็นว่า คำพูดของ M นั้นมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่ ถ้าหากว่า M เลือกที่จะเก็บ เซตของ argument ของตัวเอง เป็น M1, M3, M5 จริงๆแล้ว  ก็จะพบว่า M ไม่สามารถยอมรับ argument ของตัวเองได้ค่ะ

ลองนึกถึงว่า ถ้าเราจะสร้างหุ่นยนต์ ที่พูดโต้ตอบแบบนี้ได้สิคะ
ถ้าเราต้องการได้หุ่นยนต์ที่จะมีเหตุมีผล หุ่นตัวนั้น ก็ต้องไม่สร้าง conflict arguments เพื่อมาขัดแย้งในตัวเองใช่ไหมคะ

แล้วเราจะสร้างหุ่นที่คิดแบบเป็นเหตุเป็นผลได้ไหมคะ ? 

ขอให้ Happy in May  นะคะ 😊


โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๒

ก่อนอื่นขอกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ ค่าาาา  อาจจะพูดคำนี้ช้าไปหน่อย แต่หวังว่ายังทันนะคะ ฮ่าๆ

หายเงียบไปนานเลย ทั้งๆที่ได้ตั้งใจว่าจะอัพเดทบล็อกเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย แต่ว่า ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่งานยุ่งมากจริงๆค่ะ รวมถึงป่วยไปหลายวัน ทำให้ตารางงานต่างๆต้องเลื่อนไปหมด

วันนี้เห็นว่า ก็ผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่มาสักพักแล้ว และก็เกิน 2 เดือนแล้วเรายังไม่ได้มีโอกาสอัพเดทบล็อกเลย จึงคิดว่าควรจะมาเขียนอะไรทิ้งไว้ เพื่อเป็นการรักษาสัญญา(ใจ) กับตัวเองที่ว่าจะอัพเดทบล็อกเดือนละครั้งให้ได้นะคะ

สำหรับตัวเราเองแล้ว ปีที่ผ่านมาคือปีแห่งการทำงานหนักค่ะ  ปกติแล้วเราก็จะพยายามออกกำลังกายด้วยการวิ่งระยะ  5 กิโลเมตรในทุกวันที่มีโอกาส แต่ก็อาจจะมีเรื่องอาหารที่เรายังไม่สามารถควบคุมตัวเองให้กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ได้ค่ะ (เพราะความชอบขนมหวานของเรามันเกินห้ามใจ ฮาๆๆ)

ทั้งที่ปกติเราไม่ค่อยจะเจ็บป่วยสักเท่าไหร่ แต่กลายเป็นว่า ช่วงปลายปีเราก็ป่วยไป 2 สัปดาห์เลย ทรมานจริงเชียวค่ะ

ปีที่แล้ว มีเรื่อง 2 เรื่องที่สำคัญที่เกิดขึ้น คือเราได้ใช้ความกล้าอย่างมากค่ะ ในการตัดสินใจทำเรื่องบางสิ่งบางอย่าง เป็นความกล้าที่เมื่อได้ทำแล้ว แม้ว่าผลจะไม่ได้ออกมาอย่างที่เราหวังจะให้เป็น แต่ว่าได้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรๆมากขึ้น และมีความกล้าให้กับตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ ช่วยให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง และเลิกเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ ในด้านที่เป็นปมด้อยที่เคยฝังใจเรามาตลอด

ส่วนอีกเรื่องคือเราได้ผ่านภาวะความกดดันอย่างที่สุด จนเราแทบถอดใจไม่ก้าวเดินต่อ แต่หลังจากเราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เราก็รู้สึกว่า เรามีความอดทนเพิ่มมากขึ้น และเข้าใจการรับมือกับภาวะเครียดได้ดีขึ้นค่ะ พอผ่านเรื่องใหญ่มาได้ ทำให้เราตั้งรับกับเรื่องอื่นๆที่เข้ามาว่าไม่ว่ายังไงเราก็จะต้องผ่านสถานการณ์นั้นๆได้แน่ๆค่ะ ... อาจจะผ่านไปได้โดยที่ได้ผลลัพธ์อย่างที่อยากให้เกิดขึ้น หรือไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราก็จะผ่านไปได้ค่ะ

ปีนี้เราก็คงจะไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากมาย นอกจาก พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ต่ออาชีพการงาน หน้าที่ในฐานะลูกที่ดีของพ่อแม่ หน้าที่ในฐานะเพื่อนที่ดีต่อผู้อื่น และหน้าที่ที่จะทำดีต่อตัวเองค่ะ

สำหรับกิจกรรมต่างๆที่เคยทำแล้วเป็นเรื่องที่ดี เราก็จะยังคงทำต่อไป ที่สำคัญคือ เราตั้งใจที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกเรื่อยๆค่ะ   เราได้เรียนรู้แล้วว่า ความคาดหวังนั้นทรมานมาก เมื่อเราไม่ได้ในสิ่งที่หวัง แต่บางครั้งความหวังก็เป็นเรื่องจำเป็น  หากไม่มีความหวัง เราก็จะไม่มีเป้าหมายหรือแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ....  แต่การคาดหวังในความหวัง นั้นเป็นยาพิษร้ายต่อใจตัวเองเลยนะคะ ... ดังนั้นเราจึงพยายามที่บอกตัวเองว่า เรามีความหวังได้ แต่จะไม่คาดหวังว่าสิ่งที่หวังต้องเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นจริงก็ดี ถ้าไม่เป็นจริงก็ไม่เป็นไรค่ะ

เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก... แต่ก็จะฝึกใจค่ะ 
เอาไว้ครั้งหน้า เราจะกลับมาเขียนบล็อกเกี่ยวกับความรู้บ้างนะคะ  ... ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกสนานกับปีหมูทองค่ะ  :)

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Closure and Consistency ใน logic-based reasoning framework คืออะไร

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ

ห่างหายไป พอดีว่ายุ่งๆกับงานมากไปหน่อยนะคะ แต่ก็จะพยายามอัพบล็อกตามสัญญาเดือนละโพสให้ได้(นี่ได้ข่าวว่าสองเดือนผ่านไปแร้วน๊าาาา ที่ไม่ได้อัพเดท  ฮ่าๆๆ)

คือว่า ตอนที่หัดทำวิจัยด้านนี้ใหม่ๆ เราไม่มีความรู้พื้นฐานทางนี้เลยค่ะ เรียกได้ว่าศูนย์สนิท หลังจากที่เริ่มอ่านเปเปอร์ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเอาชิ้นจิ๊กซอมาต่อทีละนิดๆ แต่ก็ยังไม่เห็นภาพรวม ทั้งระบบ ว่า ไอ้การที่เราอยากจะสร้าง ระบบ AI ที่ให้เลียนแบบการคิดอย่างมีเหตุมีผลเนี่ย เราต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรกันบ้าง

วันนี้เราก็จะมาคุยกันบางด้านบางคุณสมบัติที่เราต้องคำนึงถึงเวลาที่เราอยากจะออกแบบระบบที่ทำ reasoning สักอันนะคะ (เราอาจจะอธิบายไม่ละเอียดมาก เพราะถ้าจะพูดกันโดยละเอียดคงจะยาว โพสนี้ขอแค่เกริ่นๆ ให้รู้จักคำศัพท์ คุณสมบัติเหล่านี้บ้างก่อนนะคะ)

อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่า งานด้านที่เราทำนี้คือ Knowledge Representation and Reasoning ดังนั้นเวลาเราจะออกแบบระบบ AI ให้ทำการคิดได้เนี่ย เราต้องมองไปถึงว่า เราจะทำการ represent knowledge ของระบบยังไง ในรูปแบบไหน ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์มันเอาไปทำการคิด (reason) ต่อได้


เราลองเริ่มจินตนาการนึกถึงหุ่นยนต์ ทำตัวเลียนแบบมนุษย์นะคะ มันก็จะต้องมีการรับข้อมูลอะไรต่างๆเข้าไป สมมติ หุ่นสองตัวเถียงกันเรื่องอะไรสักเรื่อง สุดท้าย ก็จะต้องเลือกว่าจะเชื่อหรือยอมรับข้อมูลอะไรบ้างถูกไหมคะ (เหมือนคนเถียงกัน)

ดังนั้น อันดับแรกก่อนเลยก็คือ คำถามที่ว่า ข้อมูลที่จะยอมรับเข้าไปเนี่ยจะต้องมีคุณสมบัติ  Closure หรือไม่

ซึ่งมาจากความคิดที่ว่า... ถ้าเรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นอยู่ แล้วเราทำการอนุมานไป (เป็นการหา closure)  เราก็จะได้ข้อมูลเยอะขึ้นใช่ไหมคะ  เซตของข้อมูลเรามันก็ต้องขยายใหญ่ขึ้น แล้วเราก็เอาเซตข้อมูลที่เพิ่มขึ้นนี้ มาอนุมานต่อ เซตก็ต้องขยายเพิ่มอีก ทำไปเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถ derive ข้อมูลอะไรใหม่ๆได้อีกแล้ว เราก็หยุด

ทีนี้ ถ้าเรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นอยู่เซตนึง แล้วเราเอามันไปหา closure แล้วปรากฎว่า สุดท้ายแล้ว ข้อมูลที่เราอนุมานได้ มันก็อยู่ในเซตอยู่แล้วแต่แรก พูดสั้นๆคือ Closure(N) = N

อย่างนี้เราจะถือว่าเซตข้อมูล N นี้ Close ค่ะ
การที่เรามีเซตข้อมูลที่มัน close นี้ดียังไง .... ก็แปลว่า เรามีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว ไม่ได้ขาดอะไรไป ไม่ได้อะไรเกินมา

ยกตัวอย่างเช่น เรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นคือ  N = { ฝนตก, ถนนเปียก }
แล้วสมมติว่า ใน knowledge base เรามีกฎที่ว่า ถ้า ฝนตก แล้ว ถนนเปียก
นั่นก็แสดงว่าเซต N เนี่ย close เพราะเมื่อเราเอา N ไปหา closure เราก็ได้เซต N เหมือนเดิมอยู่ดี

ดังนั้นถ้าเราลองนึกถึงเวลาคนเราทำการคิดหาเหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วสุดท้ายบอกว่า โอเค นี่คือข้อมูลที่เราจะยอมรับนะ (หรือคือข้อมูลที่เชือนะ)  ข้อมูลที่เรายอมรับก็ย่อมจะต้องมีข้อสรุปมาจากข้อมูลทั้งหมด ไม่มีอะไรตกหล่นใช่ไหมคะ

ยกตัวอย่าง
สมมติว่า   เราเถียงกันกับเพื่อนว่า  เพนกวินบินได้หรือไม่ แล้วเราสรุปว่าเพนกวินบินไม่ได้
ดังนั้น เซตข้อมูลที่เรายอมรับเนี่ย ก็จะต้องประกอบไปด้วย ข้อเท็จจริงว่า มีนกเพนกวินอยู่ แล้วก็มี กฎว่า ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้

ดังนั้นสมมติให้เป็น N = {เพนกวิน,  ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ , บินไม่ได้ }
ซึ่งเซตข้อมูล N นี้ จะทำให้เราสามารถได้ข้อมูลครบถ้วนไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรเกิน ดังนั้นเซต N  เนี่ย close

ดังนั้นเวลาที่เราออกแบบ framework อะไรก็ตามที่ทำการ reasoning   เราจะต้องออกแบบให้ semantic ของ framework นั้นๆ ควรที่จะ satisfy closure postulate ใช่ไหมคะ  (อ่านเรื่อง semantic ของ argumentationได้ที่โพสนี้)

ทีนี้เรามาลอง formalize ตัวอย่างเรื่องนกเพนกวินกันด้วย  Assumption-Based  Argumentation Framework (ABA) นะคะ  (สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ABA รบกวนอ่านที่นี่นะคะ)

ถ้าเราเอาตัวอย่างเรื่องนี้ มาเขียนในรูปแบบของ ABA จะเป็นยังไงนะคะ
จะได้ว่า กำหนดให้ F = (A,R,T) เมื่อ
A = {not_ab}
R = {
penguine(X) 
fly(X) ← bird(X), not_ab
ab  penguine(X)
}
และ T(not_ab) = ab

ทีนี้ เราก็จะมี AF = (AR, att) wrt F ซึ่งจะได้
AR = (A1,A2) และ att = (A2,A1)

เมื่อ A1 คือ                                                   fly(X)
                                               ____________|___________
                                               |                                              |
                                           bird(X)                                    not_ab
                                               |                                             
                                              ◻                                           
และ A2 คือ                                                   ab
                                                                      |                                              
                                                                penguine(X)                                   
                                                                      |                                             
                                                                     ◻                                              

ดังนั้น จากนิยาม prefer semantic ของ ABA เราก็จะได้ เซตของ argument ที่เรายอมรับคือ E={A2}

หมายเหตุ : ตรงนี้จะถือว่า E ตรงกับ เซต N = {เพนกวิน,  ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ , บินไม่ได้ } ข้างต้น เนื่องจากว่า ใน argument จะประกอบไปด้วยทั้ง fact (เพนกวิน),assumption และ inference rule (ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ ) ส่วน conclusion ของ A2 คือ ab (บินไม่ได้)

ถ้าเราเอา E ไปหา closure เราก็จะได้เซต E กลับมาเหมือนเดิม (ซึ่งก็คือ Closure(E) = E) ดังนั้น ก็แสดงว่าเซตข้อมูลที่เรายอมรับนั้นมีข้อมูลครบถ้วน

ซึ่งเราก็จะเห็นว่า AF เป็น framework ที่ satisfy closure postulate เพราะว่า semantic ของ AF(อย่างในตัวอย่างนี้คือเซต E) มัน close นะคะ


สมมตินะคะว่า ถ้าเกิดเราออกแบบ reasoning framework มาอันนึง สำหรับแก้ปัญหาตัวอย่างนกเพนกวินนี่แหละ แล้วปรากฎว่า semantic ที่ได้ในตอนท้ายเนี่ย เราได้เซต E = {เพนกวิน, บินไม่ได้, คนไทยผมสีดำ} ซึ่งจะเห็นว่า ข้อมูลคนไทยผมสีดำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขเลย แต่ว่า... เราต้องพึ่งข้อมูลคนไทยผมสีดำ เราถึงจะได้ข้อสรุปว่า เพนกวินบินไม่ได้ (ซึ่งจริงๆแล้ว เราต้องกำจัด คนไทยผมสีดำ ออกไปจาก semantic ของ framework เพราะมันไม่เกี่ยวกันกับนกเพนกวินบินไม่ได้เลย)


ดังนั้น ไม่ว่าเราจะออกแบบ logical framework อะไรก็ตามที่ใช้สำหรับการทำ reasoning เราควรจะต้องคำนึงถึงว่า semantic ของ framework เรานั้น ควรจะ satisfy คุณสมบัติของ closure and consistency ด้วยนะคะ
  

ทีนี้ก็มาดูกันต่อว่าแล้ว คุณสมบัติ  Consistency   คืออะไรนะคะ  แปลตรงๆตัวก็คือ ความสอดคล้องกันของข้อมูล (ใช้คำนี้ได้หรือเปล่านะ) พูดง่ายๆคือ knowledge ที่เรามีเนี่ย ไม่ควรที่จะขัดแย้งกันเอง

ทีนี้คำว่า knowledge มันก็กว้างใช่ไหมคะ เพราะ knowledge จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับตอนออกแบบ ว่าเราจะออกแบบให้มีเป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

สมมติว่าตอนนี้เราแบ่ง knowledge แบบกลุ่มใหญ่ๆนะคะ ก็มีทั้งข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (fact) และข้อมูลที่ได้มาจากการอนุมาน (deduce) ต่อ

ซึ่งก็มีคำถามผุดขึ้นมาว่า ข้อมูลอะไรบ้างล่ะ ที่เราต้องให้มัน consistent (ห้ามขัดแย้งกัน) ?

ข้อมูลพวกข้อเท็จจริงนี้ ขัดแย้งกันได้ไหม อย่างเช่น คอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า  มีเพนกวินในโลกใบนี้ และไม่มีเพนกวินในโลกใบนี้ พร้อมๆกันได้หรือเปล่า

ข้อมูลที่ได้จากการอนุมานล่ะ จะขัดแย้งกันได้ไหม อย่างเช่น จะมีข้อมูลทั้งว่าหลานชายกินเค้กไป และหลานชายไม่ได้กินเค้กไปด้วยได้ไหม


ตรงนี้แหละค่ะ  คือจุดที่น่าสนใจของลอจิก คือ... การที่ข้อมูลมันขัดแย้งกันนี่แหละ เราจะจัดการยังไง และเราจะยอมรับข้อมูลไหน ไม่ยอมรับข้อมูลไหน เพราะอะไร

ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว fact เนี่ย เราจะไม่ยอมให้มันขัดแย้งกันนะคะ เช่น จะบอกว่าในเซตข้อมูล มีทั้ง {พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก , พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก} ไม่ได้

เพราะ fact คือข้อเท็จจริง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการยอมรับโดยสากล

ต่อมา เรื่องของการอนุมาน
เท่าที่พบ ก็จะพบว่า ข้อมูลที่ได้จากการอนุมาน ด้วยกฏที่เป็นกฎตายตัวเป็นที่ยอมรับจริงแท้นั้น เราก็ต้องการให้มัน consistent ค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น  กฎที่ว่า   ถ้า X เป็นมนุษย์แล้ว X จะไม่เป็นอมตะ (ต้องตายวันใดวันนึง)

ดังนั้น สมมติว่า เรามี เซตข้อมูล ตั้งต้น S1= {นายกอไก่} แล้วเราเอาเซตนี้ไปอนุมานต่อ ก็จะได้ เซตข้อมูลใหม่คือ S2={นายกอไก่, นายกอไก่ไม่เป็นอมตะ} ซึ่งก็ consistent


ซึ่ง ข้อมูลที่ได้จากการอนุมาน (ด้วยกฎประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎตายตัว) สามารถที่จะขัดแย้งกันได้ค่ะ
เพราะในความเป็นจริงของโลกเรานั้น มีกฎมากมายหลายแบบ อย่างเช่น ตัวอย่าง เรื่องหลานกินขนมเค้กไปหรือไม่ ซึ่งกฎเหล่านี้นั้นเป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถูกคัดค้านได้

หรือยกตัวอย่างในชีีวิตประจำวัน เวลาที่เพื่อนสองคนเถียงกันเรื่อง เราควรจะเดินข้ามทางม้าลาย หรือสะพานลอยดีกว่ากัน  ถ้าเราต้องการจำลองระบบการโต้เถียงนี้ของเพื่อน  เราก็ต้องยอมให้มี ข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ในระบบ แต่ว่า เราต้องมาออกแบบว่าจะจัดการยังไง ข้อมูลไหน ที่จะยอมรับในความขัดแย้งนั้นๆ


ดังนั้น สมมติว่าเราออกแบบ reasoning framework ของเรา ให้มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในระบบได้ล่ะ แต่ว่า สุดท้ายแล้ว เซตของข้อมูลที่จะยอมรับ (semantic of framework) จะต้อง satisfy consistency postulate ด้วยนะคะ

ดังนั้น จากตัวอย่างนกเพนกวินข้างบน  ที่เราเอามา formalize ด้วย ABA framework แล้วเราก็เอามาหา prefer semantic ได้ E = {A2} ใช่ไหมคะ
เราก็จะพบว่า conclusion (ข้อสรุป) ของ argument ในเซต E นั้น consistent  ก็สามารถบอกได้ว่า  framework นั้น satisfy consistency postulate



แนะนำว่า ถ้าอยากเข้าใจอย่างละเอียด ซึ่งจะมีการยกตัวอย่างให้เห็นที่มาที่ไปชัดเลยว่า ทำไมเราถึงต้องการคุณสมบัติ closure and consistency  แต่จะอธิบายโดยอ้างอิงกับ defeasible argumentation framework  ให้อ่านเปเปอร์ นี้ เพิ่มเติมค่ะ
Reference: Dung P.M., Thang P.M. , Closure and Consistency In Logic-Associated Argumentation.


หวังว่าผู้อ่านคงจะพอเข้าใจมุมมองของ closure and consistency ใน logic-based framework ที่ใช้สำหรับการทำ reasoning AI กันบ้างแล้วนะคะ :)

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

symbolic logic กับ classical logic มันคืออะไรกัน แตกต่างกันยังไงนะ

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ

จริงๆตอนแรกอยากจะตั้งชื่อโพสวันนี้ว่าบันทึกบทสนทนาเวลาเบื่อๆ ของชาว logic แต่ก็เกรงใจกลัวว่าเดี๋ยวอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เอ... ทำไมต้องเป็นชาว logic ถึงจะคุยอะไรแบบนี้ แต่จริงๆเจตนาเราคือ อยากจะล้อเล่นน่ะค่ะ  เนื่องจากว่า  วันนี้อาจารย์เราเกิดความรู้สึกเบื่อๆ อยู่ในภาวะไม่มีอะไรทำ พอดีคุยโทรฯกันเรื่องงาน เราก็เลยแก้เบื่ออาจารย์ด้วยการถามคำถามไปซะเลย  ฮ่าๆๆๆ

เพราะเราอยากจะรู้(โดยไม่ต้องไปอ่านเองตั้งมากมาย) ว่า symbolic logic กับ classical logic มันต่างกันยังไงนะ 

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืม และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันกับผู้อ่าน เราก็เลยคิดว่า ควรจะบันทึกบทสนทนาแก้เบื่อวันนี้ไว้ในบล็อกดีกว่า :)

เอาล่ะ เข้าเรื่องเลยนะคะ มาเริ่มที่คำแรกก่อน symbolic logic  ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยได้ยินคำนี้ และอาจจะเคยอ่านหนังสือที่เราแนะนำไปแล้วด้วย

แล้วสงสัยกันไหมคะ ว่าคำๆนี้ สื่อถึงอะไร

สั้นๆเลยก็คือ symbolic logic เนี่ย คือ logic ที่เราสามารถนำเสนอมันได้ด้วย symbol ค่ะ ซึ่งถ้าเรามองดู logic ประเภทต่างๆที่เราเคยเห็นผ่านหูผ่านตากันมา มันก็มีแต่ logic ที่แทนค่าด้วย symbol กันทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่น propositional logic , first order logic , second order logic, description logic , modal logic, logic programming, etc. ลอจิกต่างๆเหล่านี้ เวลาเรา represent มัน เราก็ใช้ symbol นำเสนอ ใช่ไหมคะ

อย่าง propositional logic เราก็ใช้ ตัวอักษร อย่างเช่น p, q อะไรต่างๆ แทน proposition แต่ละอัน ตัว logical connection ก็ แทนด้วย symbol อย่างพวก and, or, implication อะไรทำนองนี้

แน่นอนว่า first order logic ก็ไม่ต่างกันมาก เพราะคล้ายกับ propositional logic ที่เพิ่ม quantifier ขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าให้นิยามโดยไอเดียแล้ว symbolic logic คือ การ reasoning  ที่เรานำเสนอมันด้วย symbol ต่างๆ นั่นเอง


ต่อมา เราก็มาดู อีกคำนึงที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ รวมถึงในหลายๆโพสที่เราเคยเขียนไว้ก่อนหน้าด้วย
แล้ว classical logic คืออะไรกัน

คำจำกัดความของคำนี้ก็อาจจะเป็นที่ถกเถียงได้นะคะ  เราเองไม่ได้หาหลักฐานยืนยัน แต่ว่าขอยืนยันด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านนี้(ซึ่งก็คืออาจารย์นั่นเอง)  ถ้าผู้อ่านท่านใดมีความคิดเห็นต่าง อยากจะหาข้อสรุปกันเราก็ยินดีค่ะ

ก่อนอื่น เราต้องย้อนไปที่คำว่า monotonic reasoning ก่อนค่ะ หวังว่าคงจะยังจำความหมายคำนี้ได้นะคะ
คือว่า classical logic เนี่ย จะมีลักษณะของ monotonic reasoning ค่ะ แต่ว่า.... ไม่ได้หมายความว่า logic ที่มีลักษณะเป็น monotonic reasoning จะถูกจัดเป็น classical logic เสมอไป

รายละเอียดเรื่อง monotonic reasoning หาอ่านได้จากโพสนี้ค่ะ

ตรงนี้เราจะขอขยายความให้ว่า ยกตัวอย่างเช่น description logic(ไม่นับ extension ของมันก่อนนะคะ)  มีลักษณะเป็น monotonic reasoning แต่ว่า มันไม่ได้ถูกนับเป็น classical logic

เพราะว่า... เดิมทีคำว่า classical logic เนี่ยใช้เรียก logic ที่นัก logician เป็นคนคิดกัน เมื่อ 20-30 ปีก่อนมาแล้ว ทีนี้ ตอนหลังๆ อย่าง description logic ก็ถึงจะคลอดออกมาใช้กันในวงการนักคอมพิวเตอร์


ซึ่ง logic หลายๆตัว ในช่วงหลังๆ ก็จะมี extension ของมัน ซึ่งจากลักษณะเดิม ที่เป็น monotonic reasoning เขาก็ปรับให้ extension มันกลายเป็น non-monotonic reasoning อย่างเช่น description logic เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจง่ายๆ เราก็จะขอสรุปว่า classical logic หมายถึง logic สมัยเก่า 20-30 ปีที่แล้ว ที่มีลักษณะเป็น monotonic reasoning ค่ะ

หวังว่า จะช่วยคลายความสงสัยให้กับหลายๆคน รวมถึงตัวเราเองด้วยนะคะ
จบบทสนทนาวันเบื่อๆ กันแค่นี้นะคะ (เป็นโพสเกี่ยวกับลอจิก ที่สั้นที่สุดแล้ว ฮ่าๆๆ)


ถ้าหากโพสนี้มีข้อผิดพลาดประการใด เราขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียวนะคะ เพราะเราเกรงว่า สิ่งที่บันทึก เราอาจจะจำผิดพลาด จากบทสนทนาจริงๆได้ เพราะบันทึกจากความจำและที่เราคิดว่าเราเข้าใจค่ะ

ขอให้สนุกกับลอจิกนะคะ :)

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ละครที่ว่าด้วยเรื่องผู้พิพากษา Miss Hammurabi

ถ้าเขียนบล็อกเรื่องวิชาการ เราจะใช้เวลานานมากกว่าจะกลั่นกรอง ตรวจทาน เขียนเสร็จสักหนึ่งโพส ก็เลยทำให้นานๆทีถึงจะได้อัพบล็อก  แต่ว่าวันนี้ เพิ่งจะดูละครจบ แต่อารมณ์ของคนดูไม่จบ แล้วก็คิดว่า อยากจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ ก็เลยขอเขียนไปเรื่อยๆ ปล่อยความคิดตัวเองสักพัก คงไม่ว่ากันนะคะ  :)

เคยดูละครที่มีเนื่อเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็จะสะท้อนให้แง่คิดในมุมต่างๆกัน แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นละครที่เน้นบทบาท ทนาย หรืออัยการ เสียมากกว่า ล่าสุดเราเพิ่งจะได้ดูละครเกาหลี เรื่อง Miss Hammurabi  ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราเคยดู ที่เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้พิพากษา  จะเน้นที่บทบาทของผู้พิพากษา และสังคมการทำงานในศาล  รวมถึงความยุติธรรมในสังคม

เรื่องนี้ดูแล้วไม่เครียดนะคะ แต่ว่าจะออกแนวสะท้อนสังคมเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว ถ้าใครเป็นคนอินง่ายๆ(เหมือนเรา) อาจจะเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งใจกับหลายๆตอน และก็มีมุขตลกแทรก มีเรื่องความรักของตัวเอก  บวกกับความน่ารักของตัวละคร ทำให้เนื้อหาไม่หนักจนเกินไป (เรื่องความรักของตัวเอกในเรื่องทั้งสองคู่ ก็นำเสนอได้น่ารักมากค่ะ สอดแทรกมาเรื่อยๆในทุกตอน)

เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือว่า นางเอกหรือผู้พิพากษาพัค เข้ามาทำงานเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายซ้าย ของศาลแขวง อยู่แผนกคดีแพ่ง 44 ที่มี ผู้พิพากษาฮัน (มีนิสัยขี้โวยวาย ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ชอบประจบ) เป็นหัวหน้าแผนก  และมีพระเอกหรือผู้พิพากษาอิม เป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายขวา

ซึ่งนิสัยของคนทั้งสามคนนี้ จะค่อนข้างแตกต่างกัน ก็เลยทำให้มีความวุ่นวายๆอยู่ในแผนก 44  แต่ด้วยความต่างอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กับทุกๆคนที่นั่น

ละครเรื่องนี้ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีแพ่งต่างๆ ซึ่งละครไม่ได้เน้นในการให้ความรู้ด้านกฎหมาย แต่เน้นเรื่องบทบาทผู้พิพากษามากกว่า (อย่างที่เห็นว่า ผู้พิพากษาทั้งสามคนนั้น มีแนวคิดค่อนข้างแตกต่างกัน)
และยังมีเรื่องสังคมการทำงาน ที่ทำให้ต้องกระทบกระทั่งกับผู้พิพากษาคนอื่นๆนอกแผนกอีก


ทีนี้เราจะใส่ความเห็นส่วนตัวของเรากับละครเรื่องนี้แล้วนะคะ
ถ้าดูตอนแรกๆเนี่ย อาจจะรำคาญนิสัยนางเอกอยู่บ้าง เพราะดูแล้วละครอยากจะโชว์ด้านที่นางเอกเป็นคนประเภท ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่ยอมคน และเป็นพวกเฟมินิสต์

ซึ่งเราก็เห็นด้วย ในช่วงแรกๆที่หลายๆฉากที่เขียนบทนางเอกให้น่ารำคาญเกินไป คนอะไรจะตอบโต้คนอื่นไปเสียทุกเรื่อง จนแทบจะออกแนวขวางโลกอยู่แล้ว

แต่ถ้าตัดตรงนี้ออก ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าบทจะเน้นให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของนางเอก(หรืออาจเรียกได้ว่าแทบจะยุ่งไปทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในสายตา) เป็นคนที่ถึงจะผ่านเรื่องร้ายๆแต่ก็ยังมองโลกในแง่ดี  และด้วยการที่มีนิสัยไม่ยอมอยู่เฉยของเธอ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนในองค์กร ในสังคมรอบๆตัวเธอ

ส่วนพระเอก เป็นคนที่ไม่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น ตัดสินกันด้วยพื้นฐานของกฏหมาย ไม่เอาอารมณ์หรือความเห็นส่วนตัวเข้าไปเกี่ยว ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้าย ด้วยเพราะเจอคนมามาก และส่วนใหญ่จะเห็นแต่ความโลภ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

หัวหน้าฮัน เป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามาก รู้ว่าจังหวะไหนควรจะโวยวาย จังหวะไหนควรจะอยู่เฉยๆ จึงทำให้ภายนอกดูเหมือนเขาไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ดูเหมือนผู้พิพากษาแก่ๆที่หมดไฟ ทำงานไปตามหน้าที่และธรรมเนียมสังคมในที่ทำงาน


เราดูตอนแรกๆแล้วก็ติดหนึบเลยเพราะว่า  เราชอบที่  บทส่งให้นางเอกเป็นพวกกล้าแหกปากต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมหรืออะไรก็ตามแต่  ในขณะที่พระเอกเองถึงจะไม่แสดงออกมา แต่ก็เห็นด้วย และรู้สึกดี ในใจคือสนับสนุนนิสัยกบฎที่นางเอกทำ

และต่อๆมาเราจะเห็นว่า นิสัยวู่วามของนางเอกสร้างปัญหามากมาย ด้วยที่ว่าสิ่งที่เธอทำ เปรียบได้ว่า จะไปใช้ไม้แข็ง ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเสียผลประโยชน์ รับไม่ได้กับที่เธอทำ

ส่วนพระเอกจากเดิม จากแค่เห็นด้วยในใจ ต่อๆมาก็กลายมาเป็นคนคอยแก้ไขปัญหาให้นางเอก ส่วนใหญ่ช่วยอยู่เบื้องหลัง (และก็เริ่มช่วยต่อหน้าแล้วตอนหลังๆ) จนหลายๆครั้งพระเอกก็ต้องตกที่นั่งลำบากไปด้วย

รวมถึงหัวหน้าฮัน ที่จากเดิมแค่คอยดูอยู่ห่างๆ ตอนหลังๆก็จะมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ในแบบฉบับของผู้พิพากษาที่เป็นผู้ใหญ่


เราชอบตรงที่ ความคิดและการกระทำของนางเอกหลายๆทีก็คือดี แต่มันก็มีด้านที่เป็นผลกระทบที่ไม่ดีตามมาด้วย ซึ่งเธอคิดไม่ถึง  ในขณะที่พระเอกจะคอยห้าม คอยเตือน แบบให้ความคิดตรงกันข้าม (ทำให้นางเอกไม่ค่อยฟังไง เพราะเหมือนจะทำให้พระเอกอยู่ฝั่งตรงกันข้ามไปเสียทีเดียว ) หัวหน้าฮัน ก็จะใช้ประโยคสั้นๆคอยตักเตือน ชี้ให้เห็น จุดที่เป็นข้อเสีย

ละครก็จะทำให้นางเอกพลาดไปก่อน แล้วก็จะมาคิดได้  ถึงผลกระทบของการกระทำของตัวเอง
และพระเอกกับหัวหน้าฮัน  ก็จะเห็นข้อดี ของการกระทำของนางเอก อีกเช่นกัน

ดังนั้น ก็เลยทำให้ความแตกต่างของทั้งสามคนนี้ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่ทีมนี้ แต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องของนางเอกเช่นกัน


พูดถึงเรื่องบทบาทผู้พิพากษา มีหลายๆตอน หลายๆคำพูดที่ทำให้เราประทับใจ
ที่พระเอกพูดถึงเรื่อง ผู้พิพากษาต้องตัดสินถูกผิดตามปริบทของกฎหมายเท่านั้น
ทั้งการที่ ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะฟ้องร้อง หรือตัดสินใดๆ
ทั้งการที่ ต้องไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสิน แต่ต้องมีความเป็นกลาง
ทั้งการที่ นางเอกทำไม่ถูกกฎที่เข้าไปยุ่งกับป้าที่มายืนประท้วงหน้าศาลต่อคดีที่ตัดสินไปแล้ว เพราะว่าตรงนี้ต้องเป็นทนายที่จะแนะนำให้ป้ายื่นอุทรณ์ แต่ว่านางเอกมองว่า ก็ป้าไม่รู้ ถ้าไม่มีคนเข้าไปให้คำแนะนำป้าจะรู้หรอ

เพราะนางเอกยึดมั่นว่า จะต่อต้านคนที่มีอำนาจและช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า  จะมีตอนท้ายประโยคเด็ดที่หัวหน้าฮันบอกนางเอกว่า  คนที่มีอำนาจมากที่สุดในศาลคือผู้พิพากษา และผู้พิพากษานี่แหละที่เป็นคนที่น่ากลัวที่สุด  หากใช้อำนาจผิดๆ

คือเรื่องนี้กล้ามาก ที่สะท้อนให้เห็นผู้พิพากษาหลายๆแบบ ที่ทั้งทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือคน และเพื่อลาภยศชื่อเสียงของตัวเอง อันที่จริงละครนี้ดีอีกจุดที่ จะทำให้เห็นว่าคนเราไม่ได้มีแต่ดีอย่างเดียว หรือเลวอย่างเดียว คือจะมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีผสมๆกันไป  ดังจะเห็นจากผู้พิพากษาหลายๆคนในเรื่อง  (ยกเว้นทีมนางเอกที่ค่อนข้างจะโชว์ให้เห็นมิติด้านที่ดี มากกว่าข้อเสียนะคะ)


มีตอนนึงที่นางเอกพูดประมาณว่า "ถ้ารู้ว่าเป็นผู้พิพากษาแล้วทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ ถ้ารู้แบบนี้จะไม่มาเป็นผู้พิพากษาดีกว่า"  ประโยคนี้กินใจมากๆเลยค่ะ  และยิ่งมีตอนที่ให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้พิพากษาแล้วยังหาความยุติธรรมแม้แต่ในองค์กรตัวเองไม่ได้ จะยังเรียกว่าตัวเองเป็นผู้พิพากษาได้อีกหรอ


 จุดหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจ และจำได้แม่นเพราะรู้สึกว่ามันสะท้อนความจริงมากๆ  คือ
มีตอนที่นางเอกพยายามจะฟ้องผู้พิพากษาที่ไม่ดี  แล้วพระเอกก็ห้ามไว้ เพราะเห็นว่านางเอกจะมีปัญหาทีหลัง แต่สุดท้ายก็คอยช่วยเหลือ  มีประโยคนึงหัวหน้าฮันพูด แล้วเรารู้สึกว่ามันสะท้อนความจริง เขาพูดประมาณว่า  "เธอไม่รู้หรอว่า ไม่ควรจะไปสู้กับคนไม่มีความละอายใจ"


เราเห็นด้วย เพราะว่าคนที่ไม่มีความละอายใจ จะไม่รู้สึกผิด หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ตรงกันข้าม เขาจะพยายามดิ้นรนหาทาง เพื่อจะเอาตัวรอดอย่างเดียว ไม่ว่าเราจะไปพูดอะไรยังไง มันก็เหมือนกับการไปปาไข่กระทบก้อนหิน

ซึ่งจะมีประโยคที่พระเอกมักจะคิดในใจบ่อยๆ และเราชอบมากคือ

"อาจจะดูเหมือนเอาไข่ไปกระทบก้อนหิน แต่บางครั้ง มันก็เปลี่ยนโลกได้ ถ้ามีใครสักคนตั้งคำถาม คำถามเหล่านั้น ไม่มีใครเคยถามทั้งๆที่...ควรจะถาม
เมื่อไหร่ที่เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังตกสู่พื้นดิน ที่ไหนสักที่...."

ละครเรื่องนี้ พยายามจะให้เป็นละครที่ทั้งสมจริง เพราะหลายๆครั้ง คนที่เรามองว่าควรจะได้รับความยุติธรรมมากกว่านี้ ก็ไม่ได้อย่างที่เราหวัง   แต่ก็ยังเป็นละครที่ให้ความหวัง ให้คนยังเชื่อในความยุติธรรมของกฎหมาย  ให้คนยังคงมองโลกนี้ว่า ถ้าทำดี เราจะได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ก็เลยทำให้ตอนหลังไข่ที่ปาหิน มันก็ยังมีรอยเปื้อนบนหินให้เห็นบ้าง ถึงแม้ว่า คนไม่ดีจะยังไม่ได้รับผลของการกระทำที่ไม่ดีให้เห็นชัดๆ ในตอนนี้ แต่ก็ต้องได้สะเทือนบ้าง

อย่างที่พระเอกพูดประโยคหนึ่งกับตัวโกง(หรือพระรอง) ที่พยายามจะใช้ทุกวิธีที่ทำให้คนในครอบครัวพ้นจากความผิดทางกฎหมาย  ว่า... แล้ววันหนึ่งคุณจะต้องคุกเข่าก้มหัวให้กับ กฎหมาย 

อันนี้เป็นความเห็นของเราเองนะคะ.....
ถึงแม้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เปลี่ยนแปลงไปตามปริบทของสังคม อาจจะใช้วัดเพื่อชี้ความถูกผิดที่แน่นอนไม่ได้ทั้งหมด  แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่มนุษย์พยายามจะสร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องและทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างนึง ที่ปกป้องความยุติธรรมในสังคมได้ในระดับหนึ่ง

ถ้าคนไม่เชื่อในกฏหมายเลย  ไม่มีความยุติธรรมในกฎหมายให้เป็นที่พึ่ง แล้วคนเราจะขาดกำลังใจกันขนาดไหน  สังคมคงจะวุ่นวายน่าดูเลยนะคะ  

สรุป เราชอบละครเรื่องนี้มากๆเลยค่ะ โดยรวมชอบแง่มุมที่ละครนำเสนอ  รู้สึกซาบซึ้งกินใจมากๆ ในหลายๆตอน ในหลายๆการกระทำของตัวละครในเรื่อง   ทำให้เห็นว่า ถึงแม้การทำความดีนั้นจะยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำความดีลงไป วันนึง..สักวันนึง ความดีนั้นจะส่งผลแน่นอนค่ะ :)