วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Asadora มาเระ mare まれ ละครให้กำลังใจสำหรับคนมีฝันที่น่าประทับใจแห่งหลายๆปี

เราเพิ่งได้มีโอกาสดูละครญี่ปุ่นเรื่อง มาเระ まれ เมื่อไม่นานนี้ หลังจากดูจบแล้วรู้สึกประทับใจมากจนคิดว่าจะต้องเขียนบันทึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ให้ได้ ชอบมากถึงขั้นไปย้อนดูบางตอนซ้ำๆกันเลยทีเดียว

ละครเรื่องมาเระนี้เป็น ละคร asadora  ซึ่งก็คือละครยามเช้า ที่ฉายแค่เพียง 15 นาทีต่อวัน แต่ว่ามีทั้งหมด 156 ตอน (โชคดีนะที่เรามาดูย้อนหลัง ก็เลยไม่ต้องทนลุ้นรอดูทุกๆเช้า ฮ่าๆๆๆ)  ตอนแรกเราก็เปิดดูไปแบบไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เป็นแค่ละครคั่นเวลาดูตอนระหว่างกินข้าวเย็น เพราะคิดว่าแค่ 15 นาทีจะได้ไม่เสียเวลามาก แต่ปรากฎว่าจากตอนแรกๆที่ดูเหมือนเป็นละครดูเรื่อยๆ สิบตอนผ่านไปปรากฎว่าเราติดหนึบ นั่งดูทีนึงไม่เคยต่ำกว่าชั่วโมงเลย (อานุภาพรุนแรงจริงๆ)

ต้องบอกก่อนเลยว่าความชอบของเราอาจจะไม่ตรงกับคนอื่นๆก็ได้นะคะ เพราะละครเรื่องนี้เป็นละครแนว feel good  มีมุขตลกแทรกนิดๆทั้งเรื่อง ปนกับความเป็นชีวิตจริงๆแบบที่จับต้องได้  และอาจจะมีเนื้อเรื่องบางครั้งที่มันบังเอิญเกินไป(ก็ต้องมองข้ามความไม่สมจริงไปบ้าง)  และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของตัวละครมันค่อนข้างอุดมคติในแบบที่  คนรอบๆตัวของตัวเอกของเรื่องนั้นมีแต่คนดีๆ มีความรักความอบอุ่นให้กำลังใจกันตลอด ซึ่งตรงนี้นี่แหละค่ะที่เราชอบมาก  (คงเพราะในชีวิตจริงมันไม่ได้หาได้อบอุ่นขนาดนั้น)

เนื้อเรื่องย่อๆ ก็คือ นางเอกของเราชื่อ มาเระ เป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ เพราะอยากให้ลูกเป็นคนมีความฝัน เหมือนกับตัวของพ่อเองที่เป็นคนช่างฝัน (ต้องใช้คำว่า ช่างฝันเลยค่ะ) และเพราะความช่างฝันของพ่อ ก็ทำให้ครอบครัวล้มละลาย ต้องหนีหนี้ อพยพจากโตเกียว มาอยู่เมืองห่างไกลติดชายทะเล ที่ โนโตะ

ครอบครัวของมาเระก็ได้เช่าบ้านอยู่กับบ้านของครอบครัวที่ทำนาเกลือ กันจิซัง กับฟูมิซัง สองตายายที่แรกเลยดูเหมือนจะไม่สนใจไยดีกับปัญหาของครอบครัวมาเระมากนัก แต่สุดท้ายก็ช่วยเหลือ และอยู่ด้วยกันจนผูกพันธ์เหมือนเป็นคนในครอบครัวจริงๆ

และด้วยความหลังฝังใจที่ความฝันของพ่อทำให้ครอบครัวต้องหนีหนี้ ทำให้มาเระ เด็กสาวที่มีความฝันอยากเป็น ช่างทำเค้ก กลายเป็นคนเกลียดความฝัน แล้วก็มุ่งหน้าแต่คิดจะทำงานที่มั่นคงเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหนอีก  ทำให้พอจบมัธยม มาเระ ก็เลือกที่จะเข้าทำงานที่ศาลากลางวาจิมะ   ต่อมาก็มีเหตุการณ์ให้มาเระเองได้ตระหนักว่า  เธอนั้นอยากจะออกไปต่อสู้เพื่อความฝันในการเป็นช่างทำเค้ก ดูบ้าง

ธีมหลักของเรื่องนี้ คือ ความฝัน  ค่ะ  ตัวละครเกือบทุกตัว (โดยเฉพาะตัวละครวัยรุ่น ซึ่งมี มาเระ และเพื่อนๆของเธอ) เป็นตัวแทนของคนมีความฝันในรูปแบบต่างๆกันไป และการต่อสู้เพื่อความฝันของตน

เพื่อนๆของมาเระ อย่างเคตะ ก็มีความฝันอยากจะเป็นช่างเคลือบ (เมืองวาจิมะ ขึ้นชื่อเรื่อง เครื่องเขิน งานเคลือบที่ราคาแพงและสวยงาม)  หลังเรียนจบก็ขอเป็นเด็กฝึกอยู่ที่ร้านนูชิ(ร้านผลิตและขายเครื่องเขิน) ของคุณปู่ของตัวเอง

อิจิโกะ ก็มีความฝันอยากไปโตเกียว เพื่อจะเป็นนางแบบ พยายามไปออดิชั่น และออกกำลังกายลดน้ำหนักอยู่ตลอด

ส่วนโยอิจิโร่ มีความฝันที่จะสานต่ออาชีพประมงของพ่อ และแต่งงานกับอิจิโกะ

มิโดริ เป็นคนที่มีความฝัน(ที่เธอเองบอกว่าเป็นความฝันที่เรียบง่ายที่สุด) คือการได้ทำงานอยู่ที่เมืองวาจิมะ และแต่งงานอาศัยอยู่ที่เมืองนี้

ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง ต่างก็มีความฝันเป็นของตนเองค่ะ เราจะไม่ขอเล่าเพราะไม่อยากสปอย อยากให้ไปดูเองจะได้เซอไพรส์นะคะ

แต่คนที่มีความฝันที่ดูยิ่งใหญ่ และวิ่งล่าความฝันตลอดทั้งเรื่องเลย ก็คงจะไม่พ้น คุณพ่อของมาเระ .....โทรุซัง  ซึ่งเขาเองก็เป็นตัวละครหลัก ที่แทนคนที่ต่อสู้เพื่อความฝันอีกประเภทหนึ่งเลย

ถ้าพูดถึงคุณพ่อ ก็ต้องพูดถึงคุณแม่ของมาเระ.....ไอโกะซัง เธอมีความฝันที่สวยงามนะคะ ซึ่งก็คือการได้เห็นสามีของตนยิ้มและต่อสู้เพื่อความฝันนั่นเอง

ละครเรื่องนี้ จะแสดงให้เห็นชีวิตของมาเระตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเป็นวัยรุ่น จนถึงวัยทำงาน แต่งงาน และมีลูก โดยหลักๆก็จะฉายให้เห็นความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อความฝันของมาเระจัง ปัญหาต่างๆที่เธอต้องเผชิญ และความช่วยเหลือ ความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัว และในหมู่บ้าน ที่เป็นแรงใจสำคัญที่ทำให้มาเระยืนหยัดต่อสู้มาได้ตลอด

เอาเป็นว่า ถ้าใครชอบละครแนวนี้ เราขอแนะนำอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเลยค่ะ ว่าเป็นละครที่ดูแล้วจะมีทั้งรอยยิ้ม และน้ำตา(แห่งความซาบซึ้งใจ)  และได้ความประทับใจอย่างแน่นอน  ขนาดเราดูจบแล้ว ยังรู้สึกผูกพันธ์กับตัวละคร อยากดูต่อจนถึงมาเระแก่เลยด้วยซ้ำ (ฮ่าๆๆๆ เพราะว่ารู้สึกว่าละครที่ทำให้เราเห็นชีวิตของคนๆนึงตั้งแต่เด็กจนโตได้เนี่ย มันมีไม่เยอะ แล้วก็ดูเหมือนชีวิตจริงๆดีด้วย)

*************************** หลังจากนี้เราจะเขียนเกี่ยวกับความคิดเห็นของเราต่อละคร และจะมีส่วนที่สปอยเนื้อเรื่องด้วยนะคะ  ถ้าใครไม่อยากอ่านสปอย ไว้ดูจบแล้วค่อยมาคุยกันก็ได้นะคะ ************************************************************************

ส่วนหลักๆเลยที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้คือ

ธีมของเรื่อง  คือ ความฝัน .... ประโยคที่ว่า... บางครั้งความฝัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างที่โทรุฝันก็ได้  ...  คนเรามีความฝันแตกต่างกันไป จะเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร ความฝันเรียบง่ายหรือท้ายทายกว่า ก็ไม่ใช่

ความฝันก็คือสิ่งที่คนๆนั้นอยากทำ อยากให้เป็น  ก็แค่นั้นไม่ใช่หรอ และ...ความฝันก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่เรื่องเดียวเสมอไป

มันไม่ง่ายเลยในการวิ่งตามความฝัน หลายๆครั้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้ความฝันเราต้องสะดุด ทำให้เราอาจจะต้องหยุดฝันไว้ชั่วคราว ... บางคนก็อาจจะต้องหยุดความฝันนั้นไว้ตลอด แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน   ... และแต่ละคนก็ให้ลำดับความสำคัญกับแต่ละสิ่งไม่เท่ากัน จะไปตัดสินว่าถูกหรือผิดก็ไม่ใช่

อย่างมาเระเอง ที่ฝันอยากเป็นช่างทำเค้กที่เก่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่เธอต้องเลือกระหว่างไปปารีสหรือกลับมาดูแลครอบครัว ก็ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่า ในขณะที่บางคน (อย่างเชฟ) ก็อาจจะเลือกไปปารีส ไปฝึกเป็นช่างทำเค้ก

และทุกๆการกระทำการตัดสินใจ ย่อมมีผลของมันตามมา ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจต้องยอมรับและไม่เสียใจกับผลของมัน อย่างมาเระ เมื่อเลือกครอบครัว และไม่ไปปารีส ผลก็คือความก้าวหน้าในอาชีพของเธอไม่เท่ากับคนอื่นๆ (เรียกได้ว่าแทบถดถอย เพราะไม่ได้ฝึก) ในขณะที่โทโกะซัง กลายเป็นช่างทำเค้กที่เก่งขึ้น เพราะได้ไปฝึกที่ปารีส ทำงานเป็นเชฟในโรงแรม

แต่ตอนท้ายเรื่องก็ทำให้เห็นว่า ถึงมาเระจะไม่ได้ไปปารีส ไม่ได้ไปฝึกที่อื่น เธอก็สามารถฝึกฝนเองต่อได้ แค่อย่าทิ้งการฝึกฝน อย่าทิ้งความฝันแต่ปรับให้ใช้ชีวิตที่ยังทำสิ่งที่ตัวเองชอบไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว ....ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะมีผลกระทบที่ว่า ... โอกาสที่มาเระจะเก่งมากๆ หรือได้เป็นที่หนึ่งอย่างที่ฝันนั้นจะน้อยลง

ซึ่งเราก็จะเห็นว่า มาเระก็มีความสุขกับทางที่เธอเลือก (ถึงแม้มีตอนที่ให้เห็นว่าเธอเสียใจอยู่บ้าง กับความไม่เก่งของตน กับโอกาสที่ละทิ้งไป แต่ตอนหลังก็เข้าใจ) ในขณะเดียวกัน โทโกะซัง ก็มีความสุขในแบบที่เธอเลือก (ที่ได้ประสบความสำเร็จในงาน ถึงเธอจะอิจฉามาเระที่มีครอบครัว ส่วนตัวเองต้องเหงาที่จนป่านนี้ยังไม่ได้แต่งงาน)

ดังนั้นชีวิตมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ และไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง อยู่ที่ว่าเราอยากได้อะไร ก็อาจจะต้องทิ้งอะไรบางอย่างไป (เหมือนที่คุณยายมาเระเคยพูด เธอทิ้งครอบครัวเพื่อไปเป็นเชฟที่ฝรั่งเศส ) ดังนั้น อยู่ที่เราจะเลือกว่าจะเอาอะไร และทิ้งอะไร(ถ้าจำเป็นต้องทิ้ง) หรือเลือกที่จะไม่ทิ้งอะไรเลย อย่างมาเระ  แต่ปรับให้ทำทั้งสองอย่างได้ ซึ่งอาจจะผลไม่ได้ดีเลิศนัก แต่ก็ทำให้มีความสุขที่ไม่ต้องเสียอะไรไปอย่างเด็ดขาด


1. ตัวละครทุกตัวมีความโดดเด่นในตัวเอง  ถึงแม้ว่าเดิมทีบทจะเป็นเหมือนเพียงแค่ตัวประกอบก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นแค่ตัวประกอบที่โผล่หน้าเข้ามาแล้วหายไป  ซึ่งตรงนี้ทำให้เราผูกพันธ์กับตัวละครได้ง่ายๆ และรู้สึกเหมือนกับพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านในหมู่บ้านจริงๆ

2. ความเป็นหมู่บ้านโนโตะ ฮ่าๆๆๆ
คือมันจะมีที่ไหน หมู่บ้านที่แบบว่า มีข่าวอะไรจะรู้เรื่องกันทั้งหมู่บ้าน ใครจะสารภาพรักใคร จะไปไหน ก็ไม่สามารถรอดพ้นสายตาชาวโนโตะไปได้  ซึ่งจริงๆตรงนี้คิดว่าละครทำมาเพื่อให้เป็นมุขตลก ที่มันน่ารักมากอ่ะค่ะ เราชอบความเป็นหมู่บ้านชนบทแบบนี้  เพราะเขาไม่ได้(เผือก) เรื่องคนอื่นเพื่อมาสมน้ำหน้า แต่กลับ(เผือก) แล้วให้กำลังใจและช่วยเหลือกันมากกว่า

3. ความมุ่งมั่นเกินล้าน ของมาเระ กับเคตะ
ถ้าในชีวิตจริงเราขยัน และมุ่งมั่นได้อย่าง มาเระกับเคตะ เราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะงานอะไรหรือปัญหาอะไรเข้ามา เราก็ต้องทำมันจนสำเร็จได้สักวัน  เห็นแล้วรู้สึกมีกำลังใจมีไฟในการทำงานเหลือเกิน

4. ความรักความเข้าใจกันในครอบครัว (สามี-ภรรยา)
ละครจะดำเนินไปจนถึงมาเระได้แต่งงานกับเคตะ จนมีลูกแฝดด้วยกัน(น่ารักมากเรยยยย) ซึ่งมีหลายๆตอนที่ จะเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการดูแลความรู้สึกของกันและกันระหว่างสามี ภรรยา ซึ่ง มาเระกับเคตะเองเพิ่งแต่งงานกัน เวลาอีกฝ่ายมีปัญหา อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะทำตัวยังไง ก็จะได้คนรอบๆตัว อย่างน้องชายมาเระ หรือคนที่บ้านเคตะ คอยช่วยให้คำแนะนำ

โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีลูกแล้ว ทั้งงานที่ร้าน ทั้งงานดูแลลูก ทำให้ต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่มาเระและเคตะก็ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ไม่ใช่ปล่อยให้หน้าที่ที่บ้านเป็นของผู้หญิงอย่างเดียว

ชอบฉากที่เคตะบอกว่า เขาจะต้องสนับสนุน การเป็นช่างทำเค้กของมาเระให้ได้  กับฉากที่จับมือมาเระสแตมป์ลงไปในสัญญาเงินกู้ (เพราะมาเระกลัวการเป็นหนี้มาก)  พอมีลูกก็ช่วยเลี้ยงลูกเพื่อให้มาเระไปที่ร้านเค้กได้ (เป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆเรย)

5. ความเท่ห์ของกันจิซัง กับความเกรียนของฟูมิซัง
ฮ่าๆๆ อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว(ม๊ากมาก) กันจิซัง มีกล้ามเนื้อสวยมากเลยค่ะ ทั้งๆที่อายุมากแล้ว เวลาเราเห็นแต่ละฉากที่กันจิซังแบกน้ำทะเลมาสาด เห็นกล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแขนแล้วแบบ ช่างเป็นคนแก่ที่แข็งแรง สมกับอาชีพชาวนาเกลือจริงๆ  เท่ห์มากๆเลยค่ะ แล้วก็ความไม่ค่อยพูดของกันจิซังก็เท่ห์

ส่วนฟูมิซัง เล่นบทของเธอได้น่าหยิก และเป็นคุณยายจอมเกรียนจริงๆค่ะ บอกไม่ถูกต้องดูเอง แต่ละฉากที่ฟูมิซังเล่นนี่ ต้องมีได้ขำกับความเป็นแม่มดของเธอ

(ฉากที่หลังจากรู้ว่าเคตะสารภาพรักมาเระตอนมอปลาย แล้วฟูมิซังไปถามมาเระออกไมโครโฟน ฉากนี้ทำให้เราหลงรักความเกรียนของฟูมิซังเลยค่ะ ฮ่าๆๆ)

6. ความรักของโทรุซัง และไอโกะซัง
โทรุซัง มัวแต่วิ่งตามความฝันตัวเองมากเกินไป จนแทบไม่ได้ดูแลครอบครัว (เรียกว่าทอดทิ้งเลยก็ว่าได้ เล่นหายไปทีละหลายๆปี ไม่ได้เลี้ยงลูกเลย ปล่อยให้ไอโกะเลี้ยงลูกคนเดียว) แล้วเขาก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เพราะว่าเขาเอาแต่ฝัน และหวังจะทำให้ได้มันมาอย่างง่ายๆ
แต่ที่ต้องนับถืออย่างนึงคือ .... โทรุซัง รักไอโกะคนเดียว และไม่เคยคิดนอกใจภรรยา รวมถึงไอโกะซัง ผู้น่าสงสารที่ต้องรอคอยสามี มาเกือบตลอดชีวิต (ใจคนรอนี่มันทรมานจริงๆนะคะ แถมต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียวอีก)  ถึงสุดท้าย โทรุจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ยังโชคดีที่ยังได้ความรักในครอบครัวที่รอคอยเขาเสมอ

7. มิตรภาพของเพื่อน ทั้งเพื่อนในวัยเด็ก เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนบ้าน
ตรงจุดๆนี้ ค่อนข้างเป็นโลกในอุดมคติ ที่โอกาสที่เราจะเจอคนรอบตัวดีกับเราขนาดนี้คงไม่ง่ายนัก ก็อาจจะมีดีบ้างไม่ดีบ้าง ดีมากบ้างน้อยบ้างปะปนกันไป  แต่ก็เพราะอย่างนี้ ทำให้ละครเรื่องนี้มันช่างอบอุ่นเหลือเกิน

ต้องขอชมอีกตัวละคร คือ กอนตะซัง (ไดสุเกะซัง) เป็นบทพระรองที่แสนดีและเท่ห์จริงๆ ถ้ามาเระไม่ได้ผูกพันธ์อยู่กับเคตะมาก่อนหน้า เราเองก็คงเชียร์ให้สองคนนี้คู่กันเหมือนกัน

8. ความบ้าในเค้กของ อาจารย์ของมาเระ ไดโกะซัง (รวมถึงมาเระ ที่อาจจะไม่บ้าเท่า .... รวมเคตะที่บ้างานเคลือบเข้าไปด้วยก็คิดว่าบ้าอยู่เหมือนกัน)
คือเราดูแล้ว นึกถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของเราเลยอ่ะ ฮ่าๆๆๆ คนที่รักในงานของตัวเองมากๆ เขาคงเป็นอย่างนี้กันสินะ  ลืมทุกสิ่งทุกอย่างเวลาที่พูดถึงสิ่งที่ตัวเองชอบ สามารถเพ้อฝันจินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเองชอบได้เป็นวันๆ
แต่ก็ต้องบอกว่า เราเคารพในความบ้าความคลั่งไคล้ในสิ่งที่ชอบของคนเหล่านี้นะคะ มีไม่กี่คนหรอกที่จะทำได้ขนาดนี้ และเพราะความบ้านี่แหละค่ะ ทำให้เขาสร้างสรรค์งานได้ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่นๆ แล้วมันก็คงเป็นความสุขสำหรับเขา ที่ได้คลั่งไคล้ในสิ่งที่ตัวเองชอบขนาดนี้  (ไม่ใช่ว่าความคลั่งไคล้เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด มันก็มีทั้งด้านดีและด้านร้ายของมันอยู่แล้วในตัว)

9. ความน่ารักของมาเระ กับ เคตะ และความสมจริงในชีวิตคู่
ข้อนี้เราฟินเป็นพิเศษ ฮ่าๆๆๆ แบบว่าตอนดูจบแรกๆนี่แบบ คิดว่า... โอ้ ถ้าแต่งงานแล้วเจอคู่ที่น่ารักๆดีกับเราแบบนี้ก็ดีสินะ ลูกๆก็น่ารักๆกัน ดูแล้วช่างอบอุ่นมีเสียงหัวเราะ หรือถึงตอนลำบากก็ไม่ทอดทิ้งกัน พูดคุยหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน พยายามเข้าอกเข้าใจกัน ช่างเป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆเลย

คือเราน่ะลุ้นตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว ว่าสองคนนี้จะได้คู่กันไหม คือแบบคลาดกันแล้วก็คลาดกันอีก จนพอได้มาคู่กันเราก็โอ้ ค่อยโล่งใจหน่อย (โชคดีว่า ทั้งมาเระและเคตะเป็นคนตรงๆ ถึงได้กล้าบอกรักอีกฝ่าย ถ้าเป็นพวกซึนทั้งคู่นี่คงไม่ได้คู่กันแน่ๆเลย)

และที่บอกว่าความสมจริงเพราะว่า มาเระกับเคตะไม่ได้สวีทหวานอะไรกันตลอดเวลานะคะ ต้องเรียกว่า ฉากสวีทน้อยมาก (ตามสไตล์ละครญี่ปุ่น) มีถกเถียงกันด้วยซ้ำ แต่ว่าทุกครั้งเขาก็พยายามปรับตัวเข้าหากัน และแก้ปัญหาร่วมกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราตลอด

และสมจริงตรงที่ มันไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคน แต่รวมเอาปัญหาการทำงาน อย่างเรื่องปัญหาการเงิน เรื่องปัญหาการจัดการเวลาทำงานกับเลี้ยงลูก  เรื่องปัญหาในครอบครัวของแต่ละฝ่าย ทั้งหมดนี้มันส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในความสัมพันธ์อยู่แล้ว ซึ่งทั้งมาเระและเคตะ ก็ต้องฝ่าฟันปัญหานี้ไปพร้อมๆกับการจัดการความรู้สึกของพวกเขาด้วย

มีฉากนึงที่เคตะว่ามาเระแรงมาก เรื่องที่มาเระหมกมุ่นแต่กับการแข่งทำเค้กจนไม่สนใจลูก (เราเองยังอึ้งไปเลย เพราะปกติไม่เคยเห็นเคตะพูดแรงขนาดนั้น)  ซึ่งมาเระ ก็ยอมรับความผิดของตนและปรับปรุงตัว  ซึ่งในชีวิตคู่  มันต้องมีบ้างล่ะ บางช่วงเวลาที่ฝ่ายนึงระเบิดอารมณ์ออกมา  ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่าย และปรับปรุง มันก็จะดีใช่ไหมคะ

10. เด็กๆในเรื่องน่ารักมากกกกกกกกก

เราชอบเพลงเชียร์กับท่าเชียร์มาเระมากๆเลย เด็กๆทำท่าได้น่ารักมากๆเลยค่ะ เพลงความผิดพลาดหน้าอก มันน่ารักมากๆจริงๆ ชิปไป อปไป เซไก อิจชิ ฮ่าๆๆๆๆๆ

สรุปเรื่อง เราชอบบทสรุปนี้มาก
ตัวละครหลักแต่ละตัว มีความฝันที่แตกต่างกันไป และเป็นตัวแทนของคนหลายๆแบบ  อย่างโทรุซัง เป็นตัวแทนของคนที่มีความฝัน แต่วิ่งหาความฝันไม่เป็น ใช้วิธีการไม่ถูก จนหลงทาง สุดท้ายเขาก็ได้พบว่าความฝันที่อ้างว่าทำเพื่อครอบครัว แต่กลับกลายเป็นทำให้เขาทิ้งครอบครัว มันอาจจะไม่ใช่ทางที่ดี

คุณยายของมาเระ(เชฟระดับโลก) เชฟไดโกะ เป็นตัวแทนคนที่มีฝันในแบบสุดๆ ยอมทิ้งทุกอย่าง เพื่อสิ่งที่ตัวเองรัก เพื่องาน เพื่ออาชีพที่รัก และทำอย่างเต็มที่จริงๆ สุดท้ายเขาก็ได้เป็นคนในแบบที่เขาต้องการ ถึงจะต้องเสียความสุขในส่วนของเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวไป

มาเระ กับเคตะ เป็นตัวแทนคนที่ฝันแล้ววิ่งตามความฝันอย่างแน่วแน่ ทุ่มเท สละทั้งแรงกายและแรงใจไปกับมันอย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้ละทิ้งทุกสิ่งรอบตัวไป เขายังเลือกครอบครัว และพยายามจะประคับประคองสิ่งที่เขารักทั้งหมดไว้ให้ไปด้วยกันให้ได้  ถึงแม้เขาอาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง อย่างที่เคยฝันไว้เมื่อตอนเด็กๆก็ตาม

อิจิโกะจัง เป็นคนมีฝันแน่วแน่ แต่พอถึงเวลาหาฝัน เธอก็หลงไปกับสิ่งอื่นๆ ไม่ได้ทุ่มเทเต็มที่ ทำให้เสียเวลา เสียอะไรๆไป ดีที่สุดท้าย ก็กลับมาอยู่ในร่องรอยได้ ถึงแม้จะไม่ได้ทำความฝันแรกที่เคยคิดไว้ แต่ก็ยังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองก็ชอบเหมือนกัน

จริงๆมีตัวละครอื่นๆอีก ที่นำเสนอเรื่องความฝัน แต่เรายกมาพูดแต่ตัวหลักๆนะคะ


สุดท้ายแนวคิดเรื่องการแต่งงานกับงาน อิจิโกะ กับ โทโกะ คิดเหมือนกันตรงที่ว่า จะต้องทำความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อน เรื่องครอบครัวไว้คิดทีหลัง ถึงแม้ว่ามันจะช้าไปมาก จนโทโกะซังเป็นโสด(และคาดว่าคงได้เป็นโสดต่อไป)    ด้วยความหัวดื้อของเคตะ ทำให้มาเระแต่งงานเร็ว และด้วยความที่สองคนนี้มีความจำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ก็เลยทำให้มาเระ เหมือนถูกสถานการณ์บังคับ ให้มีครอบครัวก่อนที่จะประสบความสำเร็จในงาน  (มาเระมีแผนการชีวิตที่จะแต่งงานมีลูกตอนเกือบๆสามสิบ ถ้าจำไม่ผิด แต่ก็แต่งตั้งแต่ยี่สิบกว่า)  ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้มาเระเสียโอกาสในการไปฝึกงานเป็นเชฟ และทำให้คนมองว่าเธอไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพช่างทำเค้ก

ตรงจุดนี้เราว่า.... มันแล้วแต่สถานการณ์ของคนเรามันไม่เหมือนกันค่ะ บางคนอาจจะเลือกประสบความสำเร็จได้ก่อน เพราะใช้เวลาไม่นาน และไม่ได้มีคนรักอยู่ก่อนแล้ว ทำให้แทบไม่ต้องเลือก
แต่บางคน ที่มีครอบครัวหรือคนรักอยู่แล้ว... หนทางจะประสบความสำเร็จมันยาวไกล และถ้าไปอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ...ก็อาจจะต้องเลือก หรือไม่ก็ต้องหาทางยังไงให้ดูแลได้ทั้งครอบครัวและงานที่รัก

อย่างที่มาเระพูดว่า....จะต้องมีทั้งสองอย่าง ทั้งครอบครัวและการเป็นช่างทำเค้ก (คือเธอไม่ยอมทิ้งอะไรบางอย่าง เหมือนอย่างที่คุณยาย หรือเชฟไดโกะพูดไว้)

และมาถึง กอนตะซัง(ไดสุเกะ) คนที่มีความรักยาก ใช้ชีวิตตามใจไม่ชอบการผูกมััด ที่ตอนสุดท้ายเขาก็คิดว่าการแต่งงานนี่ดีนะ (ได้เห็นคู่เคตะกับมาเระ) อยากแต่งงานบ้าง (ตอนที่ตัวเองสามสิบแปดแล้ว) แต่เขาก็อ้างว่ายังไม่เจอคนที่ถูกใจ (ถูกใจมาเระ ก็แห้วซะ น่าสงสาร)
.
.
.
.

จริงๆแล้วมีอีกหลายๆฉากมากที่เราอยากจะพูดถึง แต่คือโพสนี้มันยาวมากๆแล้ว กลัวคนอ่านจะรำคาญว่า แกจะอินอะไรขนาดน้านนนนน ก็คงต้องขอจบโพสนี้ด้วยการบอกว่า ถ้าชอบละครแนวนี้ อย่าพลาดนะคะ เป็นละครที่อบอุ่นที่สุด และประทับใจ(เรา) มากที่สุด ในรอบหลายๆปีนี้เลยค่ะ

ปล. ในละครที่เราดู มาเระแต่งงานมีลูกแฝดไปแล้ว และกำลังกลับมาสู่ความฝันในการเป็น patissier อันดับหนึ่งของโลก ซึ่ง เธอก็ค้นหาต่อไปเพื่อให้เป็นช่างทำเค้กอันดับหนึ่งของโลก ในแบบของเธอค่ะ

เราอาจจะพร่ำเพร้อมากไป.....อย่าว่ากันนะคะ อิๆๆ :)