วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Closure and Consistency ใน logic-based reasoning framework คืออะไร

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ

ห่างหายไป พอดีว่ายุ่งๆกับงานมากไปหน่อยนะคะ แต่ก็จะพยายามอัพบล็อกตามสัญญาเดือนละโพสให้ได้(นี่ได้ข่าวว่าสองเดือนผ่านไปแร้วน๊าาาา ที่ไม่ได้อัพเดท  ฮ่าๆๆ)

คือว่า ตอนที่หัดทำวิจัยด้านนี้ใหม่ๆ เราไม่มีความรู้พื้นฐานทางนี้เลยค่ะ เรียกได้ว่าศูนย์สนิท หลังจากที่เริ่มอ่านเปเปอร์ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเอาชิ้นจิ๊กซอมาต่อทีละนิดๆ แต่ก็ยังไม่เห็นภาพรวม ทั้งระบบ ว่า ไอ้การที่เราอยากจะสร้าง ระบบ AI ที่ให้เลียนแบบการคิดอย่างมีเหตุมีผลเนี่ย เราต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรกันบ้าง

วันนี้เราก็จะมาคุยกันบางด้านบางคุณสมบัติที่เราต้องคำนึงถึงเวลาที่เราอยากจะออกแบบระบบที่ทำ reasoning สักอันนะคะ (เราอาจจะอธิบายไม่ละเอียดมาก เพราะถ้าจะพูดกันโดยละเอียดคงจะยาว โพสนี้ขอแค่เกริ่นๆ ให้รู้จักคำศัพท์ คุณสมบัติเหล่านี้บ้างก่อนนะคะ)

อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่า งานด้านที่เราทำนี้คือ Knowledge Representation and Reasoning ดังนั้นเวลาเราจะออกแบบระบบ AI ให้ทำการคิดได้เนี่ย เราต้องมองไปถึงว่า เราจะทำการ represent knowledge ของระบบยังไง ในรูปแบบไหน ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์มันเอาไปทำการคิด (reason) ต่อได้


เราลองเริ่มจินตนาการนึกถึงหุ่นยนต์ ทำตัวเลียนแบบมนุษย์นะคะ มันก็จะต้องมีการรับข้อมูลอะไรต่างๆเข้าไป สมมติ หุ่นสองตัวเถียงกันเรื่องอะไรสักเรื่อง สุดท้าย ก็จะต้องเลือกว่าจะเชื่อหรือยอมรับข้อมูลอะไรบ้างถูกไหมคะ (เหมือนคนเถียงกัน)

ดังนั้น อันดับแรกก่อนเลยก็คือ คำถามที่ว่า ข้อมูลที่จะยอมรับเข้าไปเนี่ยจะต้องมีคุณสมบัติ  Closure หรือไม่

ซึ่งมาจากความคิดที่ว่า... ถ้าเรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นอยู่ แล้วเราทำการอนุมานไป (เป็นการหา closure)  เราก็จะได้ข้อมูลเยอะขึ้นใช่ไหมคะ  เซตของข้อมูลเรามันก็ต้องขยายใหญ่ขึ้น แล้วเราก็เอาเซตข้อมูลที่เพิ่มขึ้นนี้ มาอนุมานต่อ เซตก็ต้องขยายเพิ่มอีก ทำไปเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถ derive ข้อมูลอะไรใหม่ๆได้อีกแล้ว เราก็หยุด

ทีนี้ ถ้าเรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นอยู่เซตนึง แล้วเราเอามันไปหา closure แล้วปรากฎว่า สุดท้ายแล้ว ข้อมูลที่เราอนุมานได้ มันก็อยู่ในเซตอยู่แล้วแต่แรก พูดสั้นๆคือ Closure(N) = N

อย่างนี้เราจะถือว่าเซตข้อมูล N นี้ Close ค่ะ
การที่เรามีเซตข้อมูลที่มัน close นี้ดียังไง .... ก็แปลว่า เรามีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว ไม่ได้ขาดอะไรไป ไม่ได้อะไรเกินมา

ยกตัวอย่างเช่น เรามีเซตของข้อมูลตั้งต้นคือ  N = { ฝนตก, ถนนเปียก }
แล้วสมมติว่า ใน knowledge base เรามีกฎที่ว่า ถ้า ฝนตก แล้ว ถนนเปียก
นั่นก็แสดงว่าเซต N เนี่ย close เพราะเมื่อเราเอา N ไปหา closure เราก็ได้เซต N เหมือนเดิมอยู่ดี

ดังนั้นถ้าเราลองนึกถึงเวลาคนเราทำการคิดหาเหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วสุดท้ายบอกว่า โอเค นี่คือข้อมูลที่เราจะยอมรับนะ (หรือคือข้อมูลที่เชือนะ)  ข้อมูลที่เรายอมรับก็ย่อมจะต้องมีข้อสรุปมาจากข้อมูลทั้งหมด ไม่มีอะไรตกหล่นใช่ไหมคะ

ยกตัวอย่าง
สมมติว่า   เราเถียงกันกับเพื่อนว่า  เพนกวินบินได้หรือไม่ แล้วเราสรุปว่าเพนกวินบินไม่ได้
ดังนั้น เซตข้อมูลที่เรายอมรับเนี่ย ก็จะต้องประกอบไปด้วย ข้อเท็จจริงว่า มีนกเพนกวินอยู่ แล้วก็มี กฎว่า ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้

ดังนั้นสมมติให้เป็น N = {เพนกวิน,  ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ , บินไม่ได้ }
ซึ่งเซตข้อมูล N นี้ จะทำให้เราสามารถได้ข้อมูลครบถ้วนไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรเกิน ดังนั้นเซต N  เนี่ย close

ดังนั้นเวลาที่เราออกแบบ framework อะไรก็ตามที่ทำการ reasoning   เราจะต้องออกแบบให้ semantic ของ framework นั้นๆ ควรที่จะ satisfy closure postulate ใช่ไหมคะ  (อ่านเรื่อง semantic ของ argumentationได้ที่โพสนี้)

ทีนี้เรามาลอง formalize ตัวอย่างเรื่องนกเพนกวินกันด้วย  Assumption-Based  Argumentation Framework (ABA) นะคะ  (สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ABA รบกวนอ่านที่นี่นะคะ)

ถ้าเราเอาตัวอย่างเรื่องนี้ มาเขียนในรูปแบบของ ABA จะเป็นยังไงนะคะ
จะได้ว่า กำหนดให้ F = (A,R,T) เมื่อ
A = {not_ab}
R = {
penguine(X) 
fly(X) ← bird(X), not_ab
ab  penguine(X)
}
และ T(not_ab) = ab

ทีนี้ เราก็จะมี AF = (AR, att) wrt F ซึ่งจะได้
AR = (A1,A2) และ att = (A2,A1)

เมื่อ A1 คือ                                                   fly(X)
                                               ____________|___________
                                               |                                              |
                                           bird(X)                                    not_ab
                                               |                                             
                                              ◻                                           
และ A2 คือ                                                   ab
                                                                      |                                              
                                                                penguine(X)                                   
                                                                      |                                             
                                                                     ◻                                              

ดังนั้น จากนิยาม prefer semantic ของ ABA เราก็จะได้ เซตของ argument ที่เรายอมรับคือ E={A2}

หมายเหตุ : ตรงนี้จะถือว่า E ตรงกับ เซต N = {เพนกวิน,  ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ , บินไม่ได้ } ข้างต้น เนื่องจากว่า ใน argument จะประกอบไปด้วยทั้ง fact (เพนกวิน),assumption และ inference rule (ถ้าเป็นนกเพนกวินแล้วจะบินไม่ได้ ) ส่วน conclusion ของ A2 คือ ab (บินไม่ได้)

ถ้าเราเอา E ไปหา closure เราก็จะได้เซต E กลับมาเหมือนเดิม (ซึ่งก็คือ Closure(E) = E) ดังนั้น ก็แสดงว่าเซตข้อมูลที่เรายอมรับนั้นมีข้อมูลครบถ้วน

ซึ่งเราก็จะเห็นว่า AF เป็น framework ที่ satisfy closure postulate เพราะว่า semantic ของ AF(อย่างในตัวอย่างนี้คือเซต E) มัน close นะคะ


สมมตินะคะว่า ถ้าเกิดเราออกแบบ reasoning framework มาอันนึง สำหรับแก้ปัญหาตัวอย่างนกเพนกวินนี่แหละ แล้วปรากฎว่า semantic ที่ได้ในตอนท้ายเนี่ย เราได้เซต E = {เพนกวิน, บินไม่ได้, คนไทยผมสีดำ} ซึ่งจะเห็นว่า ข้อมูลคนไทยผมสีดำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขเลย แต่ว่า... เราต้องพึ่งข้อมูลคนไทยผมสีดำ เราถึงจะได้ข้อสรุปว่า เพนกวินบินไม่ได้ (ซึ่งจริงๆแล้ว เราต้องกำจัด คนไทยผมสีดำ ออกไปจาก semantic ของ framework เพราะมันไม่เกี่ยวกันกับนกเพนกวินบินไม่ได้เลย)


ดังนั้น ไม่ว่าเราจะออกแบบ logical framework อะไรก็ตามที่ใช้สำหรับการทำ reasoning เราควรจะต้องคำนึงถึงว่า semantic ของ framework เรานั้น ควรจะ satisfy คุณสมบัติของ closure and consistency ด้วยนะคะ
  

ทีนี้ก็มาดูกันต่อว่าแล้ว คุณสมบัติ  Consistency   คืออะไรนะคะ  แปลตรงๆตัวก็คือ ความสอดคล้องกันของข้อมูล (ใช้คำนี้ได้หรือเปล่านะ) พูดง่ายๆคือ knowledge ที่เรามีเนี่ย ไม่ควรที่จะขัดแย้งกันเอง

ทีนี้คำว่า knowledge มันก็กว้างใช่ไหมคะ เพราะ knowledge จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับตอนออกแบบ ว่าเราจะออกแบบให้มีเป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

สมมติว่าตอนนี้เราแบ่ง knowledge แบบกลุ่มใหญ่ๆนะคะ ก็มีทั้งข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (fact) และข้อมูลที่ได้มาจากการอนุมาน (deduce) ต่อ

ซึ่งก็มีคำถามผุดขึ้นมาว่า ข้อมูลอะไรบ้างล่ะ ที่เราต้องให้มัน consistent (ห้ามขัดแย้งกัน) ?

ข้อมูลพวกข้อเท็จจริงนี้ ขัดแย้งกันได้ไหม อย่างเช่น คอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า  มีเพนกวินในโลกใบนี้ และไม่มีเพนกวินในโลกใบนี้ พร้อมๆกันได้หรือเปล่า

ข้อมูลที่ได้จากการอนุมานล่ะ จะขัดแย้งกันได้ไหม อย่างเช่น จะมีข้อมูลทั้งว่าหลานชายกินเค้กไป และหลานชายไม่ได้กินเค้กไปด้วยได้ไหม


ตรงนี้แหละค่ะ  คือจุดที่น่าสนใจของลอจิก คือ... การที่ข้อมูลมันขัดแย้งกันนี่แหละ เราจะจัดการยังไง และเราจะยอมรับข้อมูลไหน ไม่ยอมรับข้อมูลไหน เพราะอะไร

ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว fact เนี่ย เราจะไม่ยอมให้มันขัดแย้งกันนะคะ เช่น จะบอกว่าในเซตข้อมูล มีทั้ง {พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก , พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก} ไม่ได้

เพราะ fact คือข้อเท็จจริง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการยอมรับโดยสากล

ต่อมา เรื่องของการอนุมาน
เท่าที่พบ ก็จะพบว่า ข้อมูลที่ได้จากการอนุมาน ด้วยกฏที่เป็นกฎตายตัวเป็นที่ยอมรับจริงแท้นั้น เราก็ต้องการให้มัน consistent ค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น  กฎที่ว่า   ถ้า X เป็นมนุษย์แล้ว X จะไม่เป็นอมตะ (ต้องตายวันใดวันนึง)

ดังนั้น สมมติว่า เรามี เซตข้อมูล ตั้งต้น S1= {นายกอไก่} แล้วเราเอาเซตนี้ไปอนุมานต่อ ก็จะได้ เซตข้อมูลใหม่คือ S2={นายกอไก่, นายกอไก่ไม่เป็นอมตะ} ซึ่งก็ consistent


ซึ่ง ข้อมูลที่ได้จากการอนุมาน (ด้วยกฎประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎตายตัว) สามารถที่จะขัดแย้งกันได้ค่ะ
เพราะในความเป็นจริงของโลกเรานั้น มีกฎมากมายหลายแบบ อย่างเช่น ตัวอย่าง เรื่องหลานกินขนมเค้กไปหรือไม่ ซึ่งกฎเหล่านี้นั้นเป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถูกคัดค้านได้

หรือยกตัวอย่างในชีีวิตประจำวัน เวลาที่เพื่อนสองคนเถียงกันเรื่อง เราควรจะเดินข้ามทางม้าลาย หรือสะพานลอยดีกว่ากัน  ถ้าเราต้องการจำลองระบบการโต้เถียงนี้ของเพื่อน  เราก็ต้องยอมให้มี ข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ในระบบ แต่ว่า เราต้องมาออกแบบว่าจะจัดการยังไง ข้อมูลไหน ที่จะยอมรับในความขัดแย้งนั้นๆ


ดังนั้น สมมติว่าเราออกแบบ reasoning framework ของเรา ให้มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในระบบได้ล่ะ แต่ว่า สุดท้ายแล้ว เซตของข้อมูลที่จะยอมรับ (semantic of framework) จะต้อง satisfy consistency postulate ด้วยนะคะ

ดังนั้น จากตัวอย่างนกเพนกวินข้างบน  ที่เราเอามา formalize ด้วย ABA framework แล้วเราก็เอามาหา prefer semantic ได้ E = {A2} ใช่ไหมคะ
เราก็จะพบว่า conclusion (ข้อสรุป) ของ argument ในเซต E นั้น consistent  ก็สามารถบอกได้ว่า  framework นั้น satisfy consistency postulate



แนะนำว่า ถ้าอยากเข้าใจอย่างละเอียด ซึ่งจะมีการยกตัวอย่างให้เห็นที่มาที่ไปชัดเลยว่า ทำไมเราถึงต้องการคุณสมบัติ closure and consistency  แต่จะอธิบายโดยอ้างอิงกับ defeasible argumentation framework  ให้อ่านเปเปอร์ นี้ เพิ่มเติมค่ะ
Reference: Dung P.M., Thang P.M. , Closure and Consistency In Logic-Associated Argumentation.


หวังว่าผู้อ่านคงจะพอเข้าใจมุมมองของ closure and consistency ใน logic-based framework ที่ใช้สำหรับการทำ reasoning AI กันบ้างแล้วนะคะ :)

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

symbolic logic กับ classical logic มันคืออะไรกัน แตกต่างกันยังไงนะ

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ

จริงๆตอนแรกอยากจะตั้งชื่อโพสวันนี้ว่าบันทึกบทสนทนาเวลาเบื่อๆ ของชาว logic แต่ก็เกรงใจกลัวว่าเดี๋ยวอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เอ... ทำไมต้องเป็นชาว logic ถึงจะคุยอะไรแบบนี้ แต่จริงๆเจตนาเราคือ อยากจะล้อเล่นน่ะค่ะ  เนื่องจากว่า  วันนี้อาจารย์เราเกิดความรู้สึกเบื่อๆ อยู่ในภาวะไม่มีอะไรทำ พอดีคุยโทรฯกันเรื่องงาน เราก็เลยแก้เบื่ออาจารย์ด้วยการถามคำถามไปซะเลย  ฮ่าๆๆๆ

เพราะเราอยากจะรู้(โดยไม่ต้องไปอ่านเองตั้งมากมาย) ว่า symbolic logic กับ classical logic มันต่างกันยังไงนะ 

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืม และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันกับผู้อ่าน เราก็เลยคิดว่า ควรจะบันทึกบทสนทนาแก้เบื่อวันนี้ไว้ในบล็อกดีกว่า :)

เอาล่ะ เข้าเรื่องเลยนะคะ มาเริ่มที่คำแรกก่อน symbolic logic  ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยได้ยินคำนี้ และอาจจะเคยอ่านหนังสือที่เราแนะนำไปแล้วด้วย

แล้วสงสัยกันไหมคะ ว่าคำๆนี้ สื่อถึงอะไร

สั้นๆเลยก็คือ symbolic logic เนี่ย คือ logic ที่เราสามารถนำเสนอมันได้ด้วย symbol ค่ะ ซึ่งถ้าเรามองดู logic ประเภทต่างๆที่เราเคยเห็นผ่านหูผ่านตากันมา มันก็มีแต่ logic ที่แทนค่าด้วย symbol กันทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่น propositional logic , first order logic , second order logic, description logic , modal logic, logic programming, etc. ลอจิกต่างๆเหล่านี้ เวลาเรา represent มัน เราก็ใช้ symbol นำเสนอ ใช่ไหมคะ

อย่าง propositional logic เราก็ใช้ ตัวอักษร อย่างเช่น p, q อะไรต่างๆ แทน proposition แต่ละอัน ตัว logical connection ก็ แทนด้วย symbol อย่างพวก and, or, implication อะไรทำนองนี้

แน่นอนว่า first order logic ก็ไม่ต่างกันมาก เพราะคล้ายกับ propositional logic ที่เพิ่ม quantifier ขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าให้นิยามโดยไอเดียแล้ว symbolic logic คือ การ reasoning  ที่เรานำเสนอมันด้วย symbol ต่างๆ นั่นเอง


ต่อมา เราก็มาดู อีกคำนึงที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ รวมถึงในหลายๆโพสที่เราเคยเขียนไว้ก่อนหน้าด้วย
แล้ว classical logic คืออะไรกัน

คำจำกัดความของคำนี้ก็อาจจะเป็นที่ถกเถียงได้นะคะ  เราเองไม่ได้หาหลักฐานยืนยัน แต่ว่าขอยืนยันด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านนี้(ซึ่งก็คืออาจารย์นั่นเอง)  ถ้าผู้อ่านท่านใดมีความคิดเห็นต่าง อยากจะหาข้อสรุปกันเราก็ยินดีค่ะ

ก่อนอื่น เราต้องย้อนไปที่คำว่า monotonic reasoning ก่อนค่ะ หวังว่าคงจะยังจำความหมายคำนี้ได้นะคะ
คือว่า classical logic เนี่ย จะมีลักษณะของ monotonic reasoning ค่ะ แต่ว่า.... ไม่ได้หมายความว่า logic ที่มีลักษณะเป็น monotonic reasoning จะถูกจัดเป็น classical logic เสมอไป

รายละเอียดเรื่อง monotonic reasoning หาอ่านได้จากโพสนี้ค่ะ

ตรงนี้เราจะขอขยายความให้ว่า ยกตัวอย่างเช่น description logic(ไม่นับ extension ของมันก่อนนะคะ)  มีลักษณะเป็น monotonic reasoning แต่ว่า มันไม่ได้ถูกนับเป็น classical logic

เพราะว่า... เดิมทีคำว่า classical logic เนี่ยใช้เรียก logic ที่นัก logician เป็นคนคิดกัน เมื่อ 20-30 ปีก่อนมาแล้ว ทีนี้ ตอนหลังๆ อย่าง description logic ก็ถึงจะคลอดออกมาใช้กันในวงการนักคอมพิวเตอร์


ซึ่ง logic หลายๆตัว ในช่วงหลังๆ ก็จะมี extension ของมัน ซึ่งจากลักษณะเดิม ที่เป็น monotonic reasoning เขาก็ปรับให้ extension มันกลายเป็น non-monotonic reasoning อย่างเช่น description logic เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจง่ายๆ เราก็จะขอสรุปว่า classical logic หมายถึง logic สมัยเก่า 20-30 ปีที่แล้ว ที่มีลักษณะเป็น monotonic reasoning ค่ะ

หวังว่า จะช่วยคลายความสงสัยให้กับหลายๆคน รวมถึงตัวเราเองด้วยนะคะ
จบบทสนทนาวันเบื่อๆ กันแค่นี้นะคะ (เป็นโพสเกี่ยวกับลอจิก ที่สั้นที่สุดแล้ว ฮ่าๆๆ)


ถ้าหากโพสนี้มีข้อผิดพลาดประการใด เราขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียวนะคะ เพราะเราเกรงว่า สิ่งที่บันทึก เราอาจจะจำผิดพลาด จากบทสนทนาจริงๆได้ เพราะบันทึกจากความจำและที่เราคิดว่าเราเข้าใจค่ะ

ขอให้สนุกกับลอจิกนะคะ :)

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ละครที่ว่าด้วยเรื่องผู้พิพากษา Miss Hammurabi

ถ้าเขียนบล็อกเรื่องวิชาการ เราจะใช้เวลานานมากกว่าจะกลั่นกรอง ตรวจทาน เขียนเสร็จสักหนึ่งโพส ก็เลยทำให้นานๆทีถึงจะได้อัพบล็อก  แต่ว่าวันนี้ เพิ่งจะดูละครจบ แต่อารมณ์ของคนดูไม่จบ แล้วก็คิดว่า อยากจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ ก็เลยขอเขียนไปเรื่อยๆ ปล่อยความคิดตัวเองสักพัก คงไม่ว่ากันนะคะ  :)

เคยดูละครที่มีเนื่อเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็จะสะท้อนให้แง่คิดในมุมต่างๆกัน แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นละครที่เน้นบทบาท ทนาย หรืออัยการ เสียมากกว่า ล่าสุดเราเพิ่งจะได้ดูละครเกาหลี เรื่อง Miss Hammurabi  ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราเคยดู ที่เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้พิพากษา  จะเน้นที่บทบาทของผู้พิพากษา และสังคมการทำงานในศาล  รวมถึงความยุติธรรมในสังคม

เรื่องนี้ดูแล้วไม่เครียดนะคะ แต่ว่าจะออกแนวสะท้อนสังคมเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นที่จริงแล้ว ถ้าใครเป็นคนอินง่ายๆ(เหมือนเรา) อาจจะเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งใจกับหลายๆตอน และก็มีมุขตลกแทรก มีเรื่องความรักของตัวเอก  บวกกับความน่ารักของตัวละคร ทำให้เนื้อหาไม่หนักจนเกินไป (เรื่องความรักของตัวเอกในเรื่องทั้งสองคู่ ก็นำเสนอได้น่ารักมากค่ะ สอดแทรกมาเรื่อยๆในทุกตอน)

เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือว่า นางเอกหรือผู้พิพากษาพัค เข้ามาทำงานเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายซ้าย ของศาลแขวง อยู่แผนกคดีแพ่ง 44 ที่มี ผู้พิพากษาฮัน (มีนิสัยขี้โวยวาย ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ชอบประจบ) เป็นหัวหน้าแผนก  และมีพระเอกหรือผู้พิพากษาอิม เป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายขวา

ซึ่งนิสัยของคนทั้งสามคนนี้ จะค่อนข้างแตกต่างกัน ก็เลยทำให้มีความวุ่นวายๆอยู่ในแผนก 44  แต่ด้วยความต่างอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กับทุกๆคนที่นั่น

ละครเรื่องนี้ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีแพ่งต่างๆ ซึ่งละครไม่ได้เน้นในการให้ความรู้ด้านกฎหมาย แต่เน้นเรื่องบทบาทผู้พิพากษามากกว่า (อย่างที่เห็นว่า ผู้พิพากษาทั้งสามคนนั้น มีแนวคิดค่อนข้างแตกต่างกัน)
และยังมีเรื่องสังคมการทำงาน ที่ทำให้ต้องกระทบกระทั่งกับผู้พิพากษาคนอื่นๆนอกแผนกอีก


ทีนี้เราจะใส่ความเห็นส่วนตัวของเรากับละครเรื่องนี้แล้วนะคะ
ถ้าดูตอนแรกๆเนี่ย อาจจะรำคาญนิสัยนางเอกอยู่บ้าง เพราะดูแล้วละครอยากจะโชว์ด้านที่นางเอกเป็นคนประเภท ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่ยอมคน และเป็นพวกเฟมินิสต์

ซึ่งเราก็เห็นด้วย ในช่วงแรกๆที่หลายๆฉากที่เขียนบทนางเอกให้น่ารำคาญเกินไป คนอะไรจะตอบโต้คนอื่นไปเสียทุกเรื่อง จนแทบจะออกแนวขวางโลกอยู่แล้ว

แต่ถ้าตัดตรงนี้ออก ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าบทจะเน้นให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของนางเอก(หรืออาจเรียกได้ว่าแทบจะยุ่งไปทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในสายตา) เป็นคนที่ถึงจะผ่านเรื่องร้ายๆแต่ก็ยังมองโลกในแง่ดี  และด้วยการที่มีนิสัยไม่ยอมอยู่เฉยของเธอ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนในองค์กร ในสังคมรอบๆตัวเธอ

ส่วนพระเอก เป็นคนที่ไม่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น ตัดสินกันด้วยพื้นฐานของกฏหมาย ไม่เอาอารมณ์หรือความเห็นส่วนตัวเข้าไปเกี่ยว ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้าย ด้วยเพราะเจอคนมามาก และส่วนใหญ่จะเห็นแต่ความโลภ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

หัวหน้าฮัน เป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามาก รู้ว่าจังหวะไหนควรจะโวยวาย จังหวะไหนควรจะอยู่เฉยๆ จึงทำให้ภายนอกดูเหมือนเขาไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ดูเหมือนผู้พิพากษาแก่ๆที่หมดไฟ ทำงานไปตามหน้าที่และธรรมเนียมสังคมในที่ทำงาน


เราดูตอนแรกๆแล้วก็ติดหนึบเลยเพราะว่า  เราชอบที่  บทส่งให้นางเอกเป็นพวกกล้าแหกปากต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมหรืออะไรก็ตามแต่  ในขณะที่พระเอกเองถึงจะไม่แสดงออกมา แต่ก็เห็นด้วย และรู้สึกดี ในใจคือสนับสนุนนิสัยกบฎที่นางเอกทำ

และต่อๆมาเราจะเห็นว่า นิสัยวู่วามของนางเอกสร้างปัญหามากมาย ด้วยที่ว่าสิ่งที่เธอทำ เปรียบได้ว่า จะไปใช้ไม้แข็ง ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเสียผลประโยชน์ รับไม่ได้กับที่เธอทำ

ส่วนพระเอกจากเดิม จากแค่เห็นด้วยในใจ ต่อๆมาก็กลายมาเป็นคนคอยแก้ไขปัญหาให้นางเอก ส่วนใหญ่ช่วยอยู่เบื้องหลัง (และก็เริ่มช่วยต่อหน้าแล้วตอนหลังๆ) จนหลายๆครั้งพระเอกก็ต้องตกที่นั่งลำบากไปด้วย

รวมถึงหัวหน้าฮัน ที่จากเดิมแค่คอยดูอยู่ห่างๆ ตอนหลังๆก็จะมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ในแบบฉบับของผู้พิพากษาที่เป็นผู้ใหญ่


เราชอบตรงที่ ความคิดและการกระทำของนางเอกหลายๆทีก็คือดี แต่มันก็มีด้านที่เป็นผลกระทบที่ไม่ดีตามมาด้วย ซึ่งเธอคิดไม่ถึง  ในขณะที่พระเอกจะคอยห้าม คอยเตือน แบบให้ความคิดตรงกันข้าม (ทำให้นางเอกไม่ค่อยฟังไง เพราะเหมือนจะทำให้พระเอกอยู่ฝั่งตรงกันข้ามไปเสียทีเดียว ) หัวหน้าฮัน ก็จะใช้ประโยคสั้นๆคอยตักเตือน ชี้ให้เห็น จุดที่เป็นข้อเสีย

ละครก็จะทำให้นางเอกพลาดไปก่อน แล้วก็จะมาคิดได้  ถึงผลกระทบของการกระทำของตัวเอง
และพระเอกกับหัวหน้าฮัน  ก็จะเห็นข้อดี ของการกระทำของนางเอก อีกเช่นกัน

ดังนั้น ก็เลยทำให้ความแตกต่างของทั้งสามคนนี้ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่ทีมนี้ แต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องของนางเอกเช่นกัน


พูดถึงเรื่องบทบาทผู้พิพากษา มีหลายๆตอน หลายๆคำพูดที่ทำให้เราประทับใจ
ที่พระเอกพูดถึงเรื่อง ผู้พิพากษาต้องตัดสินถูกผิดตามปริบทของกฎหมายเท่านั้น
ทั้งการที่ ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะฟ้องร้อง หรือตัดสินใดๆ
ทั้งการที่ ต้องไม่เอาอารมณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสิน แต่ต้องมีความเป็นกลาง
ทั้งการที่ นางเอกทำไม่ถูกกฎที่เข้าไปยุ่งกับป้าที่มายืนประท้วงหน้าศาลต่อคดีที่ตัดสินไปแล้ว เพราะว่าตรงนี้ต้องเป็นทนายที่จะแนะนำให้ป้ายื่นอุทรณ์ แต่ว่านางเอกมองว่า ก็ป้าไม่รู้ ถ้าไม่มีคนเข้าไปให้คำแนะนำป้าจะรู้หรอ

เพราะนางเอกยึดมั่นว่า จะต่อต้านคนที่มีอำนาจและช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า  จะมีตอนท้ายประโยคเด็ดที่หัวหน้าฮันบอกนางเอกว่า  คนที่มีอำนาจมากที่สุดในศาลคือผู้พิพากษา และผู้พิพากษานี่แหละที่เป็นคนที่น่ากลัวที่สุด  หากใช้อำนาจผิดๆ

คือเรื่องนี้กล้ามาก ที่สะท้อนให้เห็นผู้พิพากษาหลายๆแบบ ที่ทั้งทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือคน และเพื่อลาภยศชื่อเสียงของตัวเอง อันที่จริงละครนี้ดีอีกจุดที่ จะทำให้เห็นว่าคนเราไม่ได้มีแต่ดีอย่างเดียว หรือเลวอย่างเดียว คือจะมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีผสมๆกันไป  ดังจะเห็นจากผู้พิพากษาหลายๆคนในเรื่อง  (ยกเว้นทีมนางเอกที่ค่อนข้างจะโชว์ให้เห็นมิติด้านที่ดี มากกว่าข้อเสียนะคะ)


มีตอนนึงที่นางเอกพูดประมาณว่า "ถ้ารู้ว่าเป็นผู้พิพากษาแล้วทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ ถ้ารู้แบบนี้จะไม่มาเป็นผู้พิพากษาดีกว่า"  ประโยคนี้กินใจมากๆเลยค่ะ  และยิ่งมีตอนที่ให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้พิพากษาแล้วยังหาความยุติธรรมแม้แต่ในองค์กรตัวเองไม่ได้ จะยังเรียกว่าตัวเองเป็นผู้พิพากษาได้อีกหรอ


 จุดหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจ และจำได้แม่นเพราะรู้สึกว่ามันสะท้อนความจริงมากๆ  คือ
มีตอนที่นางเอกพยายามจะฟ้องผู้พิพากษาที่ไม่ดี  แล้วพระเอกก็ห้ามไว้ เพราะเห็นว่านางเอกจะมีปัญหาทีหลัง แต่สุดท้ายก็คอยช่วยเหลือ  มีประโยคนึงหัวหน้าฮันพูด แล้วเรารู้สึกว่ามันสะท้อนความจริง เขาพูดประมาณว่า  "เธอไม่รู้หรอว่า ไม่ควรจะไปสู้กับคนไม่มีความละอายใจ"


เราเห็นด้วย เพราะว่าคนที่ไม่มีความละอายใจ จะไม่รู้สึกผิด หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ตรงกันข้าม เขาจะพยายามดิ้นรนหาทาง เพื่อจะเอาตัวรอดอย่างเดียว ไม่ว่าเราจะไปพูดอะไรยังไง มันก็เหมือนกับการไปปาไข่กระทบก้อนหิน

ซึ่งจะมีประโยคที่พระเอกมักจะคิดในใจบ่อยๆ และเราชอบมากคือ

"อาจจะดูเหมือนเอาไข่ไปกระทบก้อนหิน แต่บางครั้ง มันก็เปลี่ยนโลกได้ ถ้ามีใครสักคนตั้งคำถาม คำถามเหล่านั้น ไม่มีใครเคยถามทั้งๆที่...ควรจะถาม
เมื่อไหร่ที่เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังตกสู่พื้นดิน ที่ไหนสักที่...."

ละครเรื่องนี้ พยายามจะให้เป็นละครที่ทั้งสมจริง เพราะหลายๆครั้ง คนที่เรามองว่าควรจะได้รับความยุติธรรมมากกว่านี้ ก็ไม่ได้อย่างที่เราหวัง   แต่ก็ยังเป็นละครที่ให้ความหวัง ให้คนยังเชื่อในความยุติธรรมของกฎหมาย  ให้คนยังคงมองโลกนี้ว่า ถ้าทำดี เราจะได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ก็เลยทำให้ตอนหลังไข่ที่ปาหิน มันก็ยังมีรอยเปื้อนบนหินให้เห็นบ้าง ถึงแม้ว่า คนไม่ดีจะยังไม่ได้รับผลของการกระทำที่ไม่ดีให้เห็นชัดๆ ในตอนนี้ แต่ก็ต้องได้สะเทือนบ้าง

อย่างที่พระเอกพูดประโยคหนึ่งกับตัวโกง(หรือพระรอง) ที่พยายามจะใช้ทุกวิธีที่ทำให้คนในครอบครัวพ้นจากความผิดทางกฎหมาย  ว่า... แล้ววันหนึ่งคุณจะต้องคุกเข่าก้มหัวให้กับ กฎหมาย 

อันนี้เป็นความเห็นของเราเองนะคะ.....
ถึงแม้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เปลี่ยนแปลงไปตามปริบทของสังคม อาจจะใช้วัดเพื่อชี้ความถูกผิดที่แน่นอนไม่ได้ทั้งหมด  แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่มนุษย์พยายามจะสร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องและทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างนึง ที่ปกป้องความยุติธรรมในสังคมได้ในระดับหนึ่ง

ถ้าคนไม่เชื่อในกฏหมายเลย  ไม่มีความยุติธรรมในกฎหมายให้เป็นที่พึ่ง แล้วคนเราจะขาดกำลังใจกันขนาดไหน  สังคมคงจะวุ่นวายน่าดูเลยนะคะ  

สรุป เราชอบละครเรื่องนี้มากๆเลยค่ะ โดยรวมชอบแง่มุมที่ละครนำเสนอ  รู้สึกซาบซึ้งกินใจมากๆ ในหลายๆตอน ในหลายๆการกระทำของตัวละครในเรื่อง   ทำให้เห็นว่า ถึงแม้การทำความดีนั้นจะยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราทำความดีลงไป วันนึง..สักวันนึง ความดีนั้นจะส่งผลแน่นอนค่ะ :)


วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Asadora มาเระ mare まれ ละครให้กำลังใจสำหรับคนมีฝันที่น่าประทับใจแห่งหลายๆปี

เราเพิ่งได้มีโอกาสดูละครญี่ปุ่นเรื่อง มาเระ まれ เมื่อไม่นานนี้ หลังจากดูจบแล้วรู้สึกประทับใจมากจนคิดว่าจะต้องเขียนบันทึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ให้ได้ ชอบมากถึงขั้นไปย้อนดูบางตอนซ้ำๆกันเลยทีเดียว

ละครเรื่องมาเระนี้เป็น ละคร asadora  ซึ่งก็คือละครยามเช้า ที่ฉายแค่เพียง 15 นาทีต่อวัน แต่ว่ามีทั้งหมด 156 ตอน (โชคดีนะที่เรามาดูย้อนหลัง ก็เลยไม่ต้องทนลุ้นรอดูทุกๆเช้า ฮ่าๆๆๆ)  ตอนแรกเราก็เปิดดูไปแบบไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เป็นแค่ละครคั่นเวลาดูตอนระหว่างกินข้าวเย็น เพราะคิดว่าแค่ 15 นาทีจะได้ไม่เสียเวลามาก แต่ปรากฎว่าจากตอนแรกๆที่ดูเหมือนเป็นละครดูเรื่อยๆ สิบตอนผ่านไปปรากฎว่าเราติดหนึบ นั่งดูทีนึงไม่เคยต่ำกว่าชั่วโมงเลย (อานุภาพรุนแรงจริงๆ)

ต้องบอกก่อนเลยว่าความชอบของเราอาจจะไม่ตรงกับคนอื่นๆก็ได้นะคะ เพราะละครเรื่องนี้เป็นละครแนว feel good  มีมุขตลกแทรกนิดๆทั้งเรื่อง ปนกับความเป็นชีวิตจริงๆแบบที่จับต้องได้  และอาจจะมีเนื้อเรื่องบางครั้งที่มันบังเอิญเกินไป(ก็ต้องมองข้ามความไม่สมจริงไปบ้าง)  และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของตัวละครมันค่อนข้างอุดมคติในแบบที่  คนรอบๆตัวของตัวเอกของเรื่องนั้นมีแต่คนดีๆ มีความรักความอบอุ่นให้กำลังใจกันตลอด ซึ่งตรงนี้นี่แหละค่ะที่เราชอบมาก  (คงเพราะในชีวิตจริงมันไม่ได้หาได้อบอุ่นขนาดนั้น)

เนื้อเรื่องย่อๆ ก็คือ นางเอกของเราชื่อ มาเระ เป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ เพราะอยากให้ลูกเป็นคนมีความฝัน เหมือนกับตัวของพ่อเองที่เป็นคนช่างฝัน (ต้องใช้คำว่า ช่างฝันเลยค่ะ) และเพราะความช่างฝันของพ่อ ก็ทำให้ครอบครัวล้มละลาย ต้องหนีหนี้ อพยพจากโตเกียว มาอยู่เมืองห่างไกลติดชายทะเล ที่ โนโตะ

ครอบครัวของมาเระก็ได้เช่าบ้านอยู่กับบ้านของครอบครัวที่ทำนาเกลือ กันจิซัง กับฟูมิซัง สองตายายที่แรกเลยดูเหมือนจะไม่สนใจไยดีกับปัญหาของครอบครัวมาเระมากนัก แต่สุดท้ายก็ช่วยเหลือ และอยู่ด้วยกันจนผูกพันธ์เหมือนเป็นคนในครอบครัวจริงๆ

และด้วยความหลังฝังใจที่ความฝันของพ่อทำให้ครอบครัวต้องหนีหนี้ ทำให้มาเระ เด็กสาวที่มีความฝันอยากเป็น ช่างทำเค้ก กลายเป็นคนเกลียดความฝัน แล้วก็มุ่งหน้าแต่คิดจะทำงานที่มั่นคงเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหนอีก  ทำให้พอจบมัธยม มาเระ ก็เลือกที่จะเข้าทำงานที่ศาลากลางวาจิมะ   ต่อมาก็มีเหตุการณ์ให้มาเระเองได้ตระหนักว่า  เธอนั้นอยากจะออกไปต่อสู้เพื่อความฝันในการเป็นช่างทำเค้ก ดูบ้าง

ธีมหลักของเรื่องนี้ คือ ความฝัน  ค่ะ  ตัวละครเกือบทุกตัว (โดยเฉพาะตัวละครวัยรุ่น ซึ่งมี มาเระ และเพื่อนๆของเธอ) เป็นตัวแทนของคนมีความฝันในรูปแบบต่างๆกันไป และการต่อสู้เพื่อความฝันของตน

เพื่อนๆของมาเระ อย่างเคตะ ก็มีความฝันอยากจะเป็นช่างเคลือบ (เมืองวาจิมะ ขึ้นชื่อเรื่อง เครื่องเขิน งานเคลือบที่ราคาแพงและสวยงาม)  หลังเรียนจบก็ขอเป็นเด็กฝึกอยู่ที่ร้านนูชิ(ร้านผลิตและขายเครื่องเขิน) ของคุณปู่ของตัวเอง

อิจิโกะ ก็มีความฝันอยากไปโตเกียว เพื่อจะเป็นนางแบบ พยายามไปออดิชั่น และออกกำลังกายลดน้ำหนักอยู่ตลอด

ส่วนโยอิจิโร่ มีความฝันที่จะสานต่ออาชีพประมงของพ่อ และแต่งงานกับอิจิโกะ

มิโดริ เป็นคนที่มีความฝัน(ที่เธอเองบอกว่าเป็นความฝันที่เรียบง่ายที่สุด) คือการได้ทำงานอยู่ที่เมืองวาจิมะ และแต่งงานอาศัยอยู่ที่เมืองนี้

ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง ต่างก็มีความฝันเป็นของตนเองค่ะ เราจะไม่ขอเล่าเพราะไม่อยากสปอย อยากให้ไปดูเองจะได้เซอไพรส์นะคะ

แต่คนที่มีความฝันที่ดูยิ่งใหญ่ และวิ่งล่าความฝันตลอดทั้งเรื่องเลย ก็คงจะไม่พ้น คุณพ่อของมาเระ .....โทรุซัง  ซึ่งเขาเองก็เป็นตัวละครหลัก ที่แทนคนที่ต่อสู้เพื่อความฝันอีกประเภทหนึ่งเลย

ถ้าพูดถึงคุณพ่อ ก็ต้องพูดถึงคุณแม่ของมาเระ.....ไอโกะซัง เธอมีความฝันที่สวยงามนะคะ ซึ่งก็คือการได้เห็นสามีของตนยิ้มและต่อสู้เพื่อความฝันนั่นเอง

ละครเรื่องนี้ จะแสดงให้เห็นชีวิตของมาเระตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเป็นวัยรุ่น จนถึงวัยทำงาน แต่งงาน และมีลูก โดยหลักๆก็จะฉายให้เห็นความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อความฝันของมาเระจัง ปัญหาต่างๆที่เธอต้องเผชิญ และความช่วยเหลือ ความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัว และในหมู่บ้าน ที่เป็นแรงใจสำคัญที่ทำให้มาเระยืนหยัดต่อสู้มาได้ตลอด

เอาเป็นว่า ถ้าใครชอบละครแนวนี้ เราขอแนะนำอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเลยค่ะ ว่าเป็นละครที่ดูแล้วจะมีทั้งรอยยิ้ม และน้ำตา(แห่งความซาบซึ้งใจ)  และได้ความประทับใจอย่างแน่นอน  ขนาดเราดูจบแล้ว ยังรู้สึกผูกพันธ์กับตัวละคร อยากดูต่อจนถึงมาเระแก่เลยด้วยซ้ำ (ฮ่าๆๆๆ เพราะว่ารู้สึกว่าละครที่ทำให้เราเห็นชีวิตของคนๆนึงตั้งแต่เด็กจนโตได้เนี่ย มันมีไม่เยอะ แล้วก็ดูเหมือนชีวิตจริงๆดีด้วย)

*************************** หลังจากนี้เราจะเขียนเกี่ยวกับความคิดเห็นของเราต่อละคร และจะมีส่วนที่สปอยเนื้อเรื่องด้วยนะคะ  ถ้าใครไม่อยากอ่านสปอย ไว้ดูจบแล้วค่อยมาคุยกันก็ได้นะคะ ************************************************************************

ส่วนหลักๆเลยที่ทำให้เราชอบละครเรื่องนี้คือ

ธีมของเรื่อง  คือ ความฝัน .... ประโยคที่ว่า... บางครั้งความฝัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างที่โทรุฝันก็ได้  ...  คนเรามีความฝันแตกต่างกันไป จะเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร ความฝันเรียบง่ายหรือท้ายทายกว่า ก็ไม่ใช่

ความฝันก็คือสิ่งที่คนๆนั้นอยากทำ อยากให้เป็น  ก็แค่นั้นไม่ใช่หรอ และ...ความฝันก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่เรื่องเดียวเสมอไป

มันไม่ง่ายเลยในการวิ่งตามความฝัน หลายๆครั้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้ความฝันเราต้องสะดุด ทำให้เราอาจจะต้องหยุดฝันไว้ชั่วคราว ... บางคนก็อาจจะต้องหยุดความฝันนั้นไว้ตลอด แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน   ... และแต่ละคนก็ให้ลำดับความสำคัญกับแต่ละสิ่งไม่เท่ากัน จะไปตัดสินว่าถูกหรือผิดก็ไม่ใช่

อย่างมาเระเอง ที่ฝันอยากเป็นช่างทำเค้กที่เก่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่เธอต้องเลือกระหว่างไปปารีสหรือกลับมาดูแลครอบครัว ก็ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่า ในขณะที่บางคน (อย่างเชฟ) ก็อาจจะเลือกไปปารีส ไปฝึกเป็นช่างทำเค้ก

และทุกๆการกระทำการตัดสินใจ ย่อมมีผลของมันตามมา ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจต้องยอมรับและไม่เสียใจกับผลของมัน อย่างมาเระ เมื่อเลือกครอบครัว และไม่ไปปารีส ผลก็คือความก้าวหน้าในอาชีพของเธอไม่เท่ากับคนอื่นๆ (เรียกได้ว่าแทบถดถอย เพราะไม่ได้ฝึก) ในขณะที่โทโกะซัง กลายเป็นช่างทำเค้กที่เก่งขึ้น เพราะได้ไปฝึกที่ปารีส ทำงานเป็นเชฟในโรงแรม

แต่ตอนท้ายเรื่องก็ทำให้เห็นว่า ถึงมาเระจะไม่ได้ไปปารีส ไม่ได้ไปฝึกที่อื่น เธอก็สามารถฝึกฝนเองต่อได้ แค่อย่าทิ้งการฝึกฝน อย่าทิ้งความฝันแต่ปรับให้ใช้ชีวิตที่ยังทำสิ่งที่ตัวเองชอบไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว ....ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะมีผลกระทบที่ว่า ... โอกาสที่มาเระจะเก่งมากๆ หรือได้เป็นที่หนึ่งอย่างที่ฝันนั้นจะน้อยลง

ซึ่งเราก็จะเห็นว่า มาเระก็มีความสุขกับทางที่เธอเลือก (ถึงแม้มีตอนที่ให้เห็นว่าเธอเสียใจอยู่บ้าง กับความไม่เก่งของตน กับโอกาสที่ละทิ้งไป แต่ตอนหลังก็เข้าใจ) ในขณะเดียวกัน โทโกะซัง ก็มีความสุขในแบบที่เธอเลือก (ที่ได้ประสบความสำเร็จในงาน ถึงเธอจะอิจฉามาเระที่มีครอบครัว ส่วนตัวเองต้องเหงาที่จนป่านนี้ยังไม่ได้แต่งงาน)

ดังนั้นชีวิตมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ และไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง อยู่ที่ว่าเราอยากได้อะไร ก็อาจจะต้องทิ้งอะไรบางอย่างไป (เหมือนที่คุณยายมาเระเคยพูด เธอทิ้งครอบครัวเพื่อไปเป็นเชฟที่ฝรั่งเศส ) ดังนั้น อยู่ที่เราจะเลือกว่าจะเอาอะไร และทิ้งอะไร(ถ้าจำเป็นต้องทิ้ง) หรือเลือกที่จะไม่ทิ้งอะไรเลย อย่างมาเระ  แต่ปรับให้ทำทั้งสองอย่างได้ ซึ่งอาจจะผลไม่ได้ดีเลิศนัก แต่ก็ทำให้มีความสุขที่ไม่ต้องเสียอะไรไปอย่างเด็ดขาด


1. ตัวละครทุกตัวมีความโดดเด่นในตัวเอง  ถึงแม้ว่าเดิมทีบทจะเป็นเหมือนเพียงแค่ตัวประกอบก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นแค่ตัวประกอบที่โผล่หน้าเข้ามาแล้วหายไป  ซึ่งตรงนี้ทำให้เราผูกพันธ์กับตัวละครได้ง่ายๆ และรู้สึกเหมือนกับพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านในหมู่บ้านจริงๆ

2. ความเป็นหมู่บ้านโนโตะ ฮ่าๆๆๆ
คือมันจะมีที่ไหน หมู่บ้านที่แบบว่า มีข่าวอะไรจะรู้เรื่องกันทั้งหมู่บ้าน ใครจะสารภาพรักใคร จะไปไหน ก็ไม่สามารถรอดพ้นสายตาชาวโนโตะไปได้  ซึ่งจริงๆตรงนี้คิดว่าละครทำมาเพื่อให้เป็นมุขตลก ที่มันน่ารักมากอ่ะค่ะ เราชอบความเป็นหมู่บ้านชนบทแบบนี้  เพราะเขาไม่ได้(เผือก) เรื่องคนอื่นเพื่อมาสมน้ำหน้า แต่กลับ(เผือก) แล้วให้กำลังใจและช่วยเหลือกันมากกว่า

3. ความมุ่งมั่นเกินล้าน ของมาเระ กับเคตะ
ถ้าในชีวิตจริงเราขยัน และมุ่งมั่นได้อย่าง มาเระกับเคตะ เราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะงานอะไรหรือปัญหาอะไรเข้ามา เราก็ต้องทำมันจนสำเร็จได้สักวัน  เห็นแล้วรู้สึกมีกำลังใจมีไฟในการทำงานเหลือเกิน

4. ความรักความเข้าใจกันในครอบครัว (สามี-ภรรยา)
ละครจะดำเนินไปจนถึงมาเระได้แต่งงานกับเคตะ จนมีลูกแฝดด้วยกัน(น่ารักมากเรยยยย) ซึ่งมีหลายๆตอนที่ จะเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการดูแลความรู้สึกของกันและกันระหว่างสามี ภรรยา ซึ่ง มาเระกับเคตะเองเพิ่งแต่งงานกัน เวลาอีกฝ่ายมีปัญหา อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะทำตัวยังไง ก็จะได้คนรอบๆตัว อย่างน้องชายมาเระ หรือคนที่บ้านเคตะ คอยช่วยให้คำแนะนำ

โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมีลูกแล้ว ทั้งงานที่ร้าน ทั้งงานดูแลลูก ทำให้ต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่มาเระและเคตะก็ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ไม่ใช่ปล่อยให้หน้าที่ที่บ้านเป็นของผู้หญิงอย่างเดียว

ชอบฉากที่เคตะบอกว่า เขาจะต้องสนับสนุน การเป็นช่างทำเค้กของมาเระให้ได้  กับฉากที่จับมือมาเระสแตมป์ลงไปในสัญญาเงินกู้ (เพราะมาเระกลัวการเป็นหนี้มาก)  พอมีลูกก็ช่วยเลี้ยงลูกเพื่อให้มาเระไปที่ร้านเค้กได้ (เป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆเรย)

5. ความเท่ห์ของกันจิซัง กับความเกรียนของฟูมิซัง
ฮ่าๆๆ อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว(ม๊ากมาก) กันจิซัง มีกล้ามเนื้อสวยมากเลยค่ะ ทั้งๆที่อายุมากแล้ว เวลาเราเห็นแต่ละฉากที่กันจิซังแบกน้ำทะเลมาสาด เห็นกล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อแขนแล้วแบบ ช่างเป็นคนแก่ที่แข็งแรง สมกับอาชีพชาวนาเกลือจริงๆ  เท่ห์มากๆเลยค่ะ แล้วก็ความไม่ค่อยพูดของกันจิซังก็เท่ห์

ส่วนฟูมิซัง เล่นบทของเธอได้น่าหยิก และเป็นคุณยายจอมเกรียนจริงๆค่ะ บอกไม่ถูกต้องดูเอง แต่ละฉากที่ฟูมิซังเล่นนี่ ต้องมีได้ขำกับความเป็นแม่มดของเธอ

(ฉากที่หลังจากรู้ว่าเคตะสารภาพรักมาเระตอนมอปลาย แล้วฟูมิซังไปถามมาเระออกไมโครโฟน ฉากนี้ทำให้เราหลงรักความเกรียนของฟูมิซังเลยค่ะ ฮ่าๆๆ)

6. ความรักของโทรุซัง และไอโกะซัง
โทรุซัง มัวแต่วิ่งตามความฝันตัวเองมากเกินไป จนแทบไม่ได้ดูแลครอบครัว (เรียกว่าทอดทิ้งเลยก็ว่าได้ เล่นหายไปทีละหลายๆปี ไม่ได้เลี้ยงลูกเลย ปล่อยให้ไอโกะเลี้ยงลูกคนเดียว) แล้วเขาก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เพราะว่าเขาเอาแต่ฝัน และหวังจะทำให้ได้มันมาอย่างง่ายๆ
แต่ที่ต้องนับถืออย่างนึงคือ .... โทรุซัง รักไอโกะคนเดียว และไม่เคยคิดนอกใจภรรยา รวมถึงไอโกะซัง ผู้น่าสงสารที่ต้องรอคอยสามี มาเกือบตลอดชีวิต (ใจคนรอนี่มันทรมานจริงๆนะคะ แถมต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียวอีก)  ถึงสุดท้าย โทรุจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ยังโชคดีที่ยังได้ความรักในครอบครัวที่รอคอยเขาเสมอ

7. มิตรภาพของเพื่อน ทั้งเพื่อนในวัยเด็ก เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนบ้าน
ตรงจุดๆนี้ ค่อนข้างเป็นโลกในอุดมคติ ที่โอกาสที่เราจะเจอคนรอบตัวดีกับเราขนาดนี้คงไม่ง่ายนัก ก็อาจจะมีดีบ้างไม่ดีบ้าง ดีมากบ้างน้อยบ้างปะปนกันไป  แต่ก็เพราะอย่างนี้ ทำให้ละครเรื่องนี้มันช่างอบอุ่นเหลือเกิน

ต้องขอชมอีกตัวละคร คือ กอนตะซัง (ไดสุเกะซัง) เป็นบทพระรองที่แสนดีและเท่ห์จริงๆ ถ้ามาเระไม่ได้ผูกพันธ์อยู่กับเคตะมาก่อนหน้า เราเองก็คงเชียร์ให้สองคนนี้คู่กันเหมือนกัน

8. ความบ้าในเค้กของ อาจารย์ของมาเระ ไดโกะซัง (รวมถึงมาเระ ที่อาจจะไม่บ้าเท่า .... รวมเคตะที่บ้างานเคลือบเข้าไปด้วยก็คิดว่าบ้าอยู่เหมือนกัน)
คือเราดูแล้ว นึกถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของเราเลยอ่ะ ฮ่าๆๆๆ คนที่รักในงานของตัวเองมากๆ เขาคงเป็นอย่างนี้กันสินะ  ลืมทุกสิ่งทุกอย่างเวลาที่พูดถึงสิ่งที่ตัวเองชอบ สามารถเพ้อฝันจินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเองชอบได้เป็นวันๆ
แต่ก็ต้องบอกว่า เราเคารพในความบ้าความคลั่งไคล้ในสิ่งที่ชอบของคนเหล่านี้นะคะ มีไม่กี่คนหรอกที่จะทำได้ขนาดนี้ และเพราะความบ้านี่แหละค่ะ ทำให้เขาสร้างสรรค์งานได้ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่นๆ แล้วมันก็คงเป็นความสุขสำหรับเขา ที่ได้คลั่งไคล้ในสิ่งที่ตัวเองชอบขนาดนี้  (ไม่ใช่ว่าความคลั่งไคล้เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด มันก็มีทั้งด้านดีและด้านร้ายของมันอยู่แล้วในตัว)

9. ความน่ารักของมาเระ กับ เคตะ และความสมจริงในชีวิตคู่
ข้อนี้เราฟินเป็นพิเศษ ฮ่าๆๆๆ แบบว่าตอนดูจบแรกๆนี่แบบ คิดว่า... โอ้ ถ้าแต่งงานแล้วเจอคู่ที่น่ารักๆดีกับเราแบบนี้ก็ดีสินะ ลูกๆก็น่ารักๆกัน ดูแล้วช่างอบอุ่นมีเสียงหัวเราะ หรือถึงตอนลำบากก็ไม่ทอดทิ้งกัน พูดคุยหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน พยายามเข้าอกเข้าใจกัน ช่างเป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆเลย

คือเราน่ะลุ้นตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว ว่าสองคนนี้จะได้คู่กันไหม คือแบบคลาดกันแล้วก็คลาดกันอีก จนพอได้มาคู่กันเราก็โอ้ ค่อยโล่งใจหน่อย (โชคดีว่า ทั้งมาเระและเคตะเป็นคนตรงๆ ถึงได้กล้าบอกรักอีกฝ่าย ถ้าเป็นพวกซึนทั้งคู่นี่คงไม่ได้คู่กันแน่ๆเลย)

และที่บอกว่าความสมจริงเพราะว่า มาเระกับเคตะไม่ได้สวีทหวานอะไรกันตลอดเวลานะคะ ต้องเรียกว่า ฉากสวีทน้อยมาก (ตามสไตล์ละครญี่ปุ่น) มีถกเถียงกันด้วยซ้ำ แต่ว่าทุกครั้งเขาก็พยายามปรับตัวเข้าหากัน และแก้ปัญหาร่วมกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราตลอด

และสมจริงตรงที่ มันไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองคน แต่รวมเอาปัญหาการทำงาน อย่างเรื่องปัญหาการเงิน เรื่องปัญหาการจัดการเวลาทำงานกับเลี้ยงลูก  เรื่องปัญหาในครอบครัวของแต่ละฝ่าย ทั้งหมดนี้มันส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในความสัมพันธ์อยู่แล้ว ซึ่งทั้งมาเระและเคตะ ก็ต้องฝ่าฟันปัญหานี้ไปพร้อมๆกับการจัดการความรู้สึกของพวกเขาด้วย

มีฉากนึงที่เคตะว่ามาเระแรงมาก เรื่องที่มาเระหมกมุ่นแต่กับการแข่งทำเค้กจนไม่สนใจลูก (เราเองยังอึ้งไปเลย เพราะปกติไม่เคยเห็นเคตะพูดแรงขนาดนั้น)  ซึ่งมาเระ ก็ยอมรับความผิดของตนและปรับปรุงตัว  ซึ่งในชีวิตคู่  มันต้องมีบ้างล่ะ บางช่วงเวลาที่ฝ่ายนึงระเบิดอารมณ์ออกมา  ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่าย และปรับปรุง มันก็จะดีใช่ไหมคะ

10. เด็กๆในเรื่องน่ารักมากกกกกกกกก

เราชอบเพลงเชียร์กับท่าเชียร์มาเระมากๆเลย เด็กๆทำท่าได้น่ารักมากๆเลยค่ะ เพลงความผิดพลาดหน้าอก มันน่ารักมากๆจริงๆ ชิปไป อปไป เซไก อิจชิ ฮ่าๆๆๆๆๆ

สรุปเรื่อง เราชอบบทสรุปนี้มาก
ตัวละครหลักแต่ละตัว มีความฝันที่แตกต่างกันไป และเป็นตัวแทนของคนหลายๆแบบ  อย่างโทรุซัง เป็นตัวแทนของคนที่มีความฝัน แต่วิ่งหาความฝันไม่เป็น ใช้วิธีการไม่ถูก จนหลงทาง สุดท้ายเขาก็ได้พบว่าความฝันที่อ้างว่าทำเพื่อครอบครัว แต่กลับกลายเป็นทำให้เขาทิ้งครอบครัว มันอาจจะไม่ใช่ทางที่ดี

คุณยายของมาเระ(เชฟระดับโลก) เชฟไดโกะ เป็นตัวแทนคนที่มีฝันในแบบสุดๆ ยอมทิ้งทุกอย่าง เพื่อสิ่งที่ตัวเองรัก เพื่องาน เพื่ออาชีพที่รัก และทำอย่างเต็มที่จริงๆ สุดท้ายเขาก็ได้เป็นคนในแบบที่เขาต้องการ ถึงจะต้องเสียความสุขในส่วนของเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวไป

มาเระ กับเคตะ เป็นตัวแทนคนที่ฝันแล้ววิ่งตามความฝันอย่างแน่วแน่ ทุ่มเท สละทั้งแรงกายและแรงใจไปกับมันอย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้ละทิ้งทุกสิ่งรอบตัวไป เขายังเลือกครอบครัว และพยายามจะประคับประคองสิ่งที่เขารักทั้งหมดไว้ให้ไปด้วยกันให้ได้  ถึงแม้เขาอาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง อย่างที่เคยฝันไว้เมื่อตอนเด็กๆก็ตาม

อิจิโกะจัง เป็นคนมีฝันแน่วแน่ แต่พอถึงเวลาหาฝัน เธอก็หลงไปกับสิ่งอื่นๆ ไม่ได้ทุ่มเทเต็มที่ ทำให้เสียเวลา เสียอะไรๆไป ดีที่สุดท้าย ก็กลับมาอยู่ในร่องรอยได้ ถึงแม้จะไม่ได้ทำความฝันแรกที่เคยคิดไว้ แต่ก็ยังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองก็ชอบเหมือนกัน

จริงๆมีตัวละครอื่นๆอีก ที่นำเสนอเรื่องความฝัน แต่เรายกมาพูดแต่ตัวหลักๆนะคะ


สุดท้ายแนวคิดเรื่องการแต่งงานกับงาน อิจิโกะ กับ โทโกะ คิดเหมือนกันตรงที่ว่า จะต้องทำความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อน เรื่องครอบครัวไว้คิดทีหลัง ถึงแม้ว่ามันจะช้าไปมาก จนโทโกะซังเป็นโสด(และคาดว่าคงได้เป็นโสดต่อไป)    ด้วยความหัวดื้อของเคตะ ทำให้มาเระแต่งงานเร็ว และด้วยความที่สองคนนี้มีความจำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ก็เลยทำให้มาเระ เหมือนถูกสถานการณ์บังคับ ให้มีครอบครัวก่อนที่จะประสบความสำเร็จในงาน  (มาเระมีแผนการชีวิตที่จะแต่งงานมีลูกตอนเกือบๆสามสิบ ถ้าจำไม่ผิด แต่ก็แต่งตั้งแต่ยี่สิบกว่า)  ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้มาเระเสียโอกาสในการไปฝึกงานเป็นเชฟ และทำให้คนมองว่าเธอไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพช่างทำเค้ก

ตรงจุดนี้เราว่า.... มันแล้วแต่สถานการณ์ของคนเรามันไม่เหมือนกันค่ะ บางคนอาจจะเลือกประสบความสำเร็จได้ก่อน เพราะใช้เวลาไม่นาน และไม่ได้มีคนรักอยู่ก่อนแล้ว ทำให้แทบไม่ต้องเลือก
แต่บางคน ที่มีครอบครัวหรือคนรักอยู่แล้ว... หนทางจะประสบความสำเร็จมันยาวไกล และถ้าไปอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ...ก็อาจจะต้องเลือก หรือไม่ก็ต้องหาทางยังไงให้ดูแลได้ทั้งครอบครัวและงานที่รัก

อย่างที่มาเระพูดว่า....จะต้องมีทั้งสองอย่าง ทั้งครอบครัวและการเป็นช่างทำเค้ก (คือเธอไม่ยอมทิ้งอะไรบางอย่าง เหมือนอย่างที่คุณยาย หรือเชฟไดโกะพูดไว้)

และมาถึง กอนตะซัง(ไดสุเกะ) คนที่มีความรักยาก ใช้ชีวิตตามใจไม่ชอบการผูกมััด ที่ตอนสุดท้ายเขาก็คิดว่าการแต่งงานนี่ดีนะ (ได้เห็นคู่เคตะกับมาเระ) อยากแต่งงานบ้าง (ตอนที่ตัวเองสามสิบแปดแล้ว) แต่เขาก็อ้างว่ายังไม่เจอคนที่ถูกใจ (ถูกใจมาเระ ก็แห้วซะ น่าสงสาร)
.
.
.
.

จริงๆแล้วมีอีกหลายๆฉากมากที่เราอยากจะพูดถึง แต่คือโพสนี้มันยาวมากๆแล้ว กลัวคนอ่านจะรำคาญว่า แกจะอินอะไรขนาดน้านนนนน ก็คงต้องขอจบโพสนี้ด้วยการบอกว่า ถ้าชอบละครแนวนี้ อย่าพลาดนะคะ เป็นละครที่อบอุ่นที่สุด และประทับใจ(เรา) มากที่สุด ในรอบหลายๆปีนี้เลยค่ะ

ปล. ในละครที่เราดู มาเระแต่งงานมีลูกแฝดไปแล้ว และกำลังกลับมาสู่ความฝันในการเป็น patissier อันดับหนึ่งของโลก ซึ่ง เธอก็ค้นหาต่อไปเพื่อให้เป็นช่างทำเค้กอันดับหนึ่งของโลก ในแบบของเธอค่ะ

เราอาจจะพร่ำเพร้อมากไป.....อย่าว่ากันนะคะ อิๆๆ :)

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

โครงสร้าง argument กับ attack : assumption-based argumentation

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ
จากที่โพสก่อนหน้า เราได้สรุปเกี่ยวกับแนวคิดของ abstract argumentation framework ไปแล้ว ซึ่งเป็นไอเดียให้ผู้อ่านพอมองเห็นภาพได้ว่า argumentation คืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องกับงานด้าน reasoning ยังไง

ถ้าย้อนความกลับไปถึงโพสที่แล้ว ก็คงพอจำกันได้นะคะว่า abstract argumentation framework (ขอเรียกย่อๆว่า AA) เนี่ย ประกอบไปด้วย เซตของ argument กับ attack relationship ที่บอกว่า argument ไหน attack argument ไหนบ้าง

ทีนี้พอเราจะเอาแนวคิดของ AA มาใช้ ก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วโครงสร้างของ argument เป็นอะไรได้บ้างล่ะ ไม่เห็นมีรายละเอียดบอกเลย แล้ว attack relationship ล่ะ จะนิยามมันขึ้นมายังไง 
เจ้าตัว AA เนี่ยเป็นแนวคิดที่ generalize สุดๆแล้วเพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการทำ reasoning ก่อน ดังนั้นก็เลยไม่มีรายละเอียดให้ เวลาจะเอาไปใช้ คนใช้ก็ต้องไปออกแบบกันเอาเอง 

อย่างจะเห็นจากตัวอย่างในโพสที่แล้วเรื่องขนมเค้กหาย เรากำหนดให้แต่ละ argument เป็นแค่ statement ธรรมดาๆ และก็กำหนดค่า attack relationship ตรงๆ 

แต่ว่าในการทำ reasoning ที่เป็น logic-based เราก็จะมีการนำเอา logical deduction เข้ามาใช้ใช่ไหมคะ ซึ่งตรงนี้ ทำให้เราต้องกำหนดโครงสร้างให้กับ argument และ กำหนดรูปแบบการ attack ด้วย

ดังนั้น ในโพสนี้เรามาดูลูกหลาน หรือพูดง่ายๆคือ instance ของ AA กันบ้างค่ะ อันที่จริงมีงานหลายงานที่ถือได้ว่าเป็น instance ของ AA (และมีอีกหลายงานที่เอา AA ไปใช้ร่วมกับ approach อื่นๆ) แต่เราคงจะขอหยิบ instance of AA มาอธิบายแค่บางตัวนะคะ เอาเฉพาะตัวที่เราได้ศึกษาจริงๆจังๆเท่านั้น ซึ่งผู้อ่านท่านใดที่สนใจสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ค่ะ

งั้นวันนี้เรามาเริ่มที่ตัวแรกกันก่อน Assumption-Based Argumentation (ABA) framework  นะคะ ซึ่ง ABA มีแนวคิดที่เข้าใจง่าย แต่มีประสิทธิภาพยิ่งนักว่า "เราจะยอมรับข้อสมมติฐานใดๆได้ ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานโต้แย้งข้อสมมติฐานนั้นๆ" 

จากประโยคนี้นี่แหละค่ะ เป็นตัวที่บ่งบอกว่าโครงสร้างของ ABA เป็นอย่างไร

นิยามของ ABA ก็มีดังนี้ค่ะ
ถ้าเรากำหนดให้ L เป็น language ใดๆ

  1. A เป็นซับเซตของ L ซึ่ง A เป็นเซตของ ข้อสมมติฐาน (A is a set of assumptions)
  2. R เป็น inference rules มีซึ่งลักษณะคือ  h ← b1,...,bn เมื่อ b แต่ละตัวสามารถที่จะเป็น ข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจะเป็น assumption ก็ได้ค่ะ แต่ว่า h เนี่ยไม่สามารถเป็น assumption ได้ (คือเราไม่สามารถ derive ให้เป็นข้อสรุป assumption  ได้ค่ะ)
  3. (total) Mapping function T เป็นฟังก์ชันที่ทำการ map ค่าจาก เซตของ A ไปหา L ซึ่งค่าของ เรนจ์ที่เรา map ไปหาเนี่ย คือ ค่าที่เรากำหนดให้เป็นข้อโต้แย้ง(is a contrary of) ของ assumption นั้นๆนั่นเองค่ะ  ( T: A → L )

สมมติตัวอย่างนะคะ เอาจากตัวอย่างของโพสที่แล้วเรื่องเค้กหายเลยละกัน

ถ้าเรากำหนดให้ inference rules มีกฎดังนี้ (เราจะเขียนเป็นคำอธิบายก่อนนะคะ แล้วจะเขียนกฎในรูปแบบของ first order logic อีกที)

  • ถ้าเราไม่อนุญาตให้กินได้ แล้ว เด็กๆ ก็จะไม่กินเค้ก
  • ถ้า มีกระดาษเปื้อนเศษเค้กอยู่ในถังขยะ แล้ว ต้องมีคนกินเค้ก

และ ก็มีข้อเท็จจริงว่า
  • ทั้งบ้านเรา มีแค่ น้องเปรม ซึ่งเป็นหลานชาย
  • เรามีเค้กช็อคโกแลตวางอยู่ในตู้เย็น
  • เราไม่ได้อนุญาตให้หลานกินเค้ก
ซึ่งเราจะสามารถเขียนในรูปแบบของ inference rules ได้ดังนี้ค่ะ  (ขอเขียนโดยใช้ first order logic และจะเห็นว่า แต่ละ rule มีตัวแปรอยู่ ดังนั้น แต่ละ rule ก็สามารถที่จะมี instance ของตัวเองได้นะคะ)

R =

  • ~ Eat(X, Y) ← not_Get_permission(X), Cake(Y)
  • Eat(X,Y) ← Found_in_trash(Y), Nephew(X), Cake(Y)
  • Nephew( Prame ) ← 
  • Cake( Chocolate_Cake ) ←  
  • Found_in_trash( Chocolate_Cake ) ←  

ในที่นี้เรากำหนดให้ not_Get_permission เป็น assumption ค่ะ ซึ่งก็คือ เรามีสมมติฐานอยู่แล้วว่า เราไม่ได้อนุญาตให้ใครกินเค้กในตู้เย็น เพราะฉะนั้น A = {not_Get_permission(X)}

และ ข้อโต้แย้งของ not_Get_permission ก็คือ Get_permission  (ฟังก์ชัน mapping T(not_Get_permission(X) ) = Get_permission(X) )


ตอนนี้เราให้นิยามองค์ประกอบของ ABA ครบแล้วทั้งสามส่วนใช่ไหมคะ
ทวนนิดนึงว่า ABA เนี่ย เราจะสามารถ attack ได้เฉพาะตรง assumption เท่านั้น


ทีนี้เราก็จะมาทำการพิสูจน์กันล่ะว่า หลานได้กินเค้กไปหรือไม่ค่ะ ด้วยการหา semantic จาก argumentation framework based on ABA
อย่างที่บอกว่า ABA เนี่ยเป็น instance ของ AA ดังนั้น semantic ของ AA ก็ต้องถูกถ่ายทอดมาใช้ได้กับ ABA ทุกอย่างเลย

อย่างที่เราได้คุยกันไปแล้วในโพสที่แล้วว่า AA ประกอบด้วย arguments กับ attack relationship ใช่ไหมคะ  ก่อนอื่นเราก็มาสร้าง argument กันก่อนค่ะ

สำหรับการสร้าง argument ใน ABA นี้ ง่ายๆเลยเราก็มองเป็นรูปแบบของ ทรี ก็ได้ค่ะ
โดยเราจะให้ ข้อสรุป หรือ conclusion of argument เนี่ย เป็น root node  แล้วเราก็ทำการสร้างไล่ลงไปเรื่อยๆ ด้วยการเลือก inference rules หรือ assumption ที่สามารถให้ conclusion ของ node ที่เราต้องการได้ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า backward deduction

ตัวอย่างเช่น เราจะทำการสร้าง argument ที่มี conclusion ว่า หลานกินเค้กไป (เพราะเราจะเริ่มพิสูจน์ข้อสันนิษฐานว่าหลานกินเค้กไปหรือไม่)  ซึ่งก็จะได้ argument A1 ตามรูปนะคะ

                                            Eat( Prame , Chocolate_Cake )
                                               ____________|___________
                                               |                       |                     |
 Found_in_trash( Chocolate_Cake )   Nephew( Prame )  Cake(Chocolate_Cake)
                      |                                                 |                    |
                     ◻                                               ◻                 ◻

จะเห็นว่าจากรูปทรี (พยายามมองให้เป็นทรีนะคะ ฮ่าๆๆ แบบว่าขี้เกียจไปวาดรูปข้างนอกมาแปะ ) ตรง leaf nodes จะเป็น ข้อเท็จจริงทั้งหมด  (สัญญลักษณ์ ◻ คือ tautology เป็นข้อเท็จจริงนะคะ)

ต่อมา เราจะลองสร้าง argument ที่มี conclusion ว่า หลานไม่ได้กินเค้กไป ก็จะได้ argument A2 ตามรูปค่ะ

                                            ~ Eat( Prame , Chocolate_Cake )
                                           _____________|___________                                           
                                           |                                               |
                  not_Get_permission( Prame)                    Cake(Chocolate_Cake)
                                                                                           |
                                                                                         ◻

ก็จะเห็นว่าจากรูปทรี ตรง leaf nodes เป็นข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจะเป็น assumption ก็ได้ค่ะ

ซึ่งทั้งสองกรณีนี้จะถือว่าเป็น argument ที่สมบูรณ์ แต่ถ้าหากว่า leaf node ไม่ใช่ assumption หรือ ข้อเท็จจริงแล้ว จะไม่ถือว่าสร้าง argument เสร็จสมบูรณ์นะคะ

หลังจากสร้าง argument เสร็จแล้ว เรามาดู attack relationship กันบ้างค่ะ ซึ่งใน ABA เนี่ย เราจะมีรูปแบบการ attack เพียงอย่างเดียว คือ เราจะ attack ได้เฉพาะตรง  assumption เท่านั้น  ทีนี้จากตัวอย่างที่เรามีเนี่ย เรามี เซต assumption คือ A = {not_Get_permission(X)}
ซึ่ง จะเห็นว่าใน argument A2 มี assumption อยู่ ดังนั้น attack ที่จะเกิดได้คือเราสามารถ attack A2 ได้  ถ้าเรามีข้อโต้แย้ง ข้อสมมติฐานที่ว่า เราไม่ได้อนุญาตให้ใครกินเค้ก

ซึ่งเราไม่มีข้อโต้แย้งค่ะ (คือไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า น้องเปรมได้รับอนุญาตให้กินเค้ก)
ดังนั้น ก็เลยไม่มี attack เกิดขึ้น

เราก็จะได้ว่า argumentation framework based on ABA  เรียกว่า  AF = (AR, att) ซึ่ง AR = {A1, A2} และ att = empty set 

ดังนั้น ถ้าเราเอาไปหา semantic ของ AF ก็จะได้ว่า grounded extension = prefer extension = stable extension = { A1, A2} คือยอมรับทั้งสองข้อสรุป ว่า  น้องเปรมกินเค้กไป และ น้องเปรมไม่ได้กินเค้กไป


เพื่อให้เห็น attack relationship สมมติว่าเราเพิ่มข้อเท็จจริงไปอีกอย่างนึง ว่า

  • แม่อนุญาตให้น้องเปรมกินเค้กได้

เซต inference rules R ก็จะเพิ่มมาอีกหนึ่งกฎค่ะ ว่า

  • Get_permission( Prame ) ←

ดังนั้น เราก็จะสามารถสร้าง argument เพิ่มขึ้นมาอีกอันนึงคือ A3 ดังรูป

                                           Get_permission( Prame )
                                                              |
                                                             ◻


ทีนี้ เราก็จะเห็นว่า Get_permission( Prame ) เป็น ข้อโต้แย้ง ของ not_Get_permission( Prame)
ก็จะได้ว่า ฟังก์ชัน T ของเราคือ T(not_Get_permission(Prame)) = Get_permission(Prame)

ดังนั้น ก็จะได้ว่า A3 attacks A2 (คือเดิมที มีสมมติฐานว่า น้องเปรมไม่ได้รับอนุญาตให้กินเค้ก แต่ว่า มีข้อเท็จจริงมาแย้งว่า แม่ได้อนุญาตไปแล้ว )

ดังนั้น  AF ของเราก็จะเปลี่ยนเป็น  AF = (AR, att) ซึ่ง AR = {A1, A2,A3} และ att = {(A3,A2)}

พอเราไปหา semantic ของ AF ก็จะได้ว่า grounded extension = prefer extension = stable extension = { A1, A3} คือได้ข้อสรุป ว่า  น้องเปรมกินเค้กไป ค่ะ

สรุป โพสนี้นะคะ จะเห็นว่านี่เป็นการนำเอา argumentation มาใช้ในงาน reasoning ซึ่งไม่ยากเลยใช่ไหมคะ  สำหรับคนที่จะประยุกต์ใช้เฉยๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจ logic programming อย่างละเอียดมาก่อนก็ได้ เพราะถ้า represent ในแบบ ABA เราก็แค่กำหนด inference rule เท่านั้นเอง

ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่า ABA มีลักษณะคล้ายคลึงกับ logic programming ค่ะ  เพราะตรง assumption จะคล้ายกับ negation as failure ใน logic programming  (แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า มันคือ negation as finite failure นะคะ  เพราะ ABA ไม่ได้กำหนดว่าเป็น negation as finite failure หรือ negation as possibly infinite failure อะไรเลย มันคือ assumption ตราบใดที่หา ข้อโต้แย้งมาไม่ได้ ก็ต้องยอมรับมัน)

จริงๆแล้ว ก็มีหลายเปเปอร์เลยที่เอา ABA ไปใช้ ในงานด้านต่างๆ (ส่วนใหญ่อาจจะพบในงานด้านกฎหมายนะคะ)  สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจตัวทฤษฎี สามารถอ่านได้จากเปเปอร์ Assumption-Based Argumentation link  นะคะ

ตัวอย่างที่เรายกมาในบล็อกนี้ เราพยายามเลือกตัวอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อที่จะได้เข้าใจภาพรวมก่อน ซึ่งเวลาที่เราเอาไป implement กับระบบจริงๆ ก็ย่อมที่จะซับซ้อนมากกว่า ตามโดเมนที่เราเลือก ตัว inference rules หรือ assumption เองก็อาจจะต้องออกแบบแตกต่างออกไป แต่ว่าไอเดียหลักก็ยังคงเหมือนกันค่ะ


สำหรับคนที่อยากจะเขียนโค้ดทดสอบ แบบง่ายๆก็ ใช้ prolog ได้เลยค่ะ เพราะว่า prolog เป็นเครื่องมือนึงที่สร้างจากแนวคิด logic programming  และในโพสแรกเราก็ได้เกริ่นไว้แล้ว  AA เองก็ prove ให้เห็นว่า มี semantics ที่ตรงกันกับ logic programming ดังนั้นก็ใช้ prolog ได้เลยค่ะ

ขอให้สนุกกับ argumentation นะคะ :)

วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ไร้สาระกับเดือนกุมภาพันธ์

ช่วงนี้กำลังยุ่งมากถึงมากที่สุด ก็เลยยังไม่ได้มีเวลานั่งเขียนเรื่อง argumentation ต่อเลยค่ะ เพราะต้องคิดเยอะ เรียบเรียงให้ดีก่อนจะเขียน เพราะกลัวว่าตัวเองจะสื่อสารอะไรผิดพลาดไป และอยากตั้งใจเขียนให้ดีๆ 

เหลือบเห็นวันที่ วันนี้ก็สิ้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เร็วจังเนอะ 。゜゜(´O`) ゜゜。
เราก็เลยคิดว่า ต้องพยายามทำตามสัญญาของตัวเองในปีนี้ที่ว่า จะเขียนบล็อกอย่างน้อยเดือนละครั้ง ไว้ให้ได้ (คือสัญญามาหลายปีแล้ว ไม่เคยทำได้สักที ปีนี้ต้องเอาจริงล่ะ...โอ๊ซ !)

ก็มานั่งคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ปรากฎว่ามีแต่เรื่องไร้สาระ เพราะไอ้ที่มีสาระมันต้องใช้พลังในการเขียน ฮ่าๆๆ(¬‿¬ ) งั้น....วันนี้ขอเขียนเรื่องไร้สาระหน่อยละกันน้าาาาา

เรามีความฝันอยากมีบ้านที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้เยอะๆมานานแล้ว ตอนนี้ได้กลับมาอยู่บ้าน เราก็เลยกำลังเริ่มต้นหัดปลูกต้นไม้ดอกไม้ อย่างจริงจัง(มั้ง) 
กำลังฝึกปลูกผักปลอดสารพิษอยู่ ก็เริ่มจากการปลูกมะเขือเทศ ~ ~ ~ ฮ่าๆๆ มันเป็นอะไรที่ปลูกง่ายมากเลย เราซื้อมะเขือเทศลูกๆมากิน (ปลูกไว้สองพันธุ์เชียวนา) ก็แคะเมล็ดมัน แล้วก็หว่านลงดินในกระถาง สัปดาห์ต่อมามันก็งอกต้นอ่อนเล็กๆ พอโตสักฝ่ามือเราก็แยกต้นอ่อนมันไปปลูกห่างๆกัน ตอนนี้มันเริ่มมีดอก ติดลูกแล้วล่ะ ٩(◕‿◕。)۶

ซื้อกุหลาบพวงมาปลูกหนึ่งต้น ย้ายมันลงกระถางให้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้มันก็ออกดอกมา 2 ดอกบานสวยเชียว ส่วนดอกกุหลาบหิน กับมะลิถอดที่เลี้ยงไว้ก็งามต่อไปเรื่อยๆ ปลื้มใจจริงๆ(o´▽`o) 

ตอนซื้อมานึกว่าดอกสีชมพูดอมม่วง แต่พอปลูกแล้วได้ดอกสีแดงสด...งงเลย
ปิดท้ายด้วยเรื่องมีสาระหน่อย เนื่องจากว่าทฤษฎี argumentation ที่เราเคยอธิบายไว้ เราเริ่มด้วยเปเปอร์ที่เป็นการนำเสนอวิธีการนำเอา argumentation มาพัฒนาในระบบคอมพิวเตอร์ใช่ไหมคะ

ทีนี้ถ้าใครสนใจอยากศึกษา ตัวแนวคิดของ argumentation ในเชิงปรัชญา เราแนะนำให้อ่าน 

The Uses of Argument - Stephen E. Toulmin

เราเองก็ยังไม่เคยอ่านเหมือนกันค่ะ เห็นเป็นหนังสืออ้างอิงมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ลืมไปหาอ่านทุกที กำลังคิดว่าว่างจากเดือนมีนานี้ จะเริ่มอ่านแล้วเหมือนกัน  ถ้าอ่านแล้วไว้จะมาคุยเรื่องนี้นะคะ :)


วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

แนวคิด abstract argumentation โดยสรุป

โพสนี้อยู่ในหมวด เรียนรู้ logic programming + argumentation นะคะ
สำหรับโพสนี้ เราอยากจะเขียนสรุปแนวคิดของ Abstract Argumentation Framework ไว้นะคะ เผื่อว่าใครที่ไปอ่านเปเปอร์ มาแล้วอาจจะรู้สึกว่าอยากหาเพื่อนคุยถกปัญหาหรือความเข้าใจกันจังเลย
หรือสำหรับใครที่เป็นมือใหม่ในงานด้าน reasoning  ก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับหลายๆคำศัพท์ หรือหลายๆเรื่องตอนที่อ่าน  ซึ่งตัวเราเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ในครั้งแรกๆที่อ่านเปเปอร์นี้ เราไม่เคยเรียนหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับ mathematical logic เราก็เลยไม่สามารถจับไอเดียได้เลยค่ะ รู้สึกแต่ว่ายากไม่เข้าใจ  (เราใช้เวลาอ่านนานมากค่ะ แล้วก็หลายรอบมากๆ ตามแบบฉบับเต่าๆของเราเอง >//< )

และเพื่อตอบสนองความคิดของตัวเราเอง ที่อยากจะแชร์ความรู้หรือเรื่องต่างๆที่ตัวเองรู้ให้กับคนอื่นๆ เผื่อว่า... และหวังว่า... สิ่งที่เราเขียนอาจจะเป็นประโยชน์ต่อใครสักคนบ้างนะคะ :)

เอาล่ะ เข้าเนื้อเรื่องกันดีกว่า  ถ้าหากว่าได้อ่านโพสที่แล้วของเรา ก็จะพอเข้าใจคร่าวๆเกี่ยวกับงานด้านนี้แล้วนะคะ ทีนี้ครั้งที่แล้วเราพูดถึงไอเดียของ argumentation framework ไว้ไม่ได้ละเอียดนัก วันนี้ก็เลยจะมาเติมให้เต็มค่ะ  ซึ่งส่วนตัวเราเอง เราคิดว่าแนวคิดหลักๆทั้งหมดของทฤษฎี argumentation อยู่ในเปเปอร์ AA นี้ล่ะค่ะ 

อย่างที่คุยไว้ในโพสที่แล้ว Argumentation Framework(AF) เนี่ย เป็นการทำ reasoning อยู่บนแนวคิดที่ว่าถ้าเราเถียงไม่ได้ ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เราจะต้องยอมรับเหตุผลของคนที่เถียงชนะ (เป็นการอธิบาย practical reasoning ที่ไม่ได้มี intended model ว่าคนจะต้องคิดยังไง)

ทีนี้ AF เนี่ยไม่ใช่แค่ว่า ใช้หาข้อสรุปในกลุ่มคนที่มีข้อถกเถียงกันนะคะ มันก็สามารถใช้จำลองการคิดแบบมีเหตุผลของคนเรา ได้ทั้งสำหรับความคิดของเราคนเดียวด้วยค่ะ
เพราะเวลาที่เราอยากคิดหาคำตอบอะไรสักอย่าง เราก็ต้องเถียงกับตัวเองจนกว่าจะได้ข้อสรุปใช่ไหมคะ

ยกตัวอย่าง เช่น เราสงสัยว่า เอ๊ะ...ขนมเค้กในตู้เย็นของเราหายไป จะต้องมีคนแอบกินไปแน่ๆ
ก็อยากจะรู้ว่าจริงหรือเปล่า ก็ต้องทำการพิสูจน์ค่ะ

เริ่มจาก เราจำได้ว่า เมื่อวานนี้หลานมาเล่นที่บ้าน  => A1: ก็เลยต้องสันนิษฐานว่า หลานกินเค้กไป
แต่ว่าเรารู้ว่าปกติแล้วเด็กๆจะไม่หยิบของกินเองโดยไม่ได้รับอนุญาต => A2: ก็เลยเป็นข้อโต้แย้งความคิดด้านบน
พอดีเราพบว่ามีกระดาษทิชชู่เปื้อนเศษเค้กทิ้งอยู่ในถังขยะในบ้าน => A3: ก็เลยเป็นข้อสนับสนุนว่าเด็กๆต้องกินเค้ก และโต้แย้งความคิดที่ว่าหลานไม่ได้กิน

อย่างนี้เราก็เลยสรุปว่า"หลานกินเค้กไป"

สังเกตุไหมคะว่า เรามีการสร้าง argument ในหัวเราขึ้นมา 3 argument คือ A1,A2,A3 แล้วก็สมมติว่าเรากำหนดให้ A2 attacks A1 , A3 attacks A2 ดังนั้นเราก็เลยสรุปว่า "หลานกินเค้ก"

แล้วถ้าดูลักษณะของ argumentation framework ผู้อ่านรู้สึกคุ้นๆไหมคะ (ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง natural deduction มาอาจจะคุ้นเคย) ... ใช่แล้วค่ะ ลักษณะการใช้ argument attack กันนี่คล้ายๆกับแนวทาง prove แล้วก็ disprove ไปเรื่อยๆ คล้ายคลึงกับ natural deduction เลยแต่ว่า argumentation ไม่ได้ลงรายละเอียดของกฎแต่ละข้อเหมือนกับที่ natural deduction มี

ดังนั้น Abstract Argumentation Framework (AA) เนี่ย ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า argument จะต้องมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง สร้างขึ้นมายังไง และก็ไม่ได้บอกว่า attack relation มีลักษณะเป็นยังไง กรณีไหนถึือว่า attack กรณีไหนไม่เรียกว่า attack

เจ้าตัว AA เนี่ยอธิบายการทำ reasoning ในแบบของทฤษฎี argumentation ก่อนให้เข้าใจได้ง่ายๆค่ะ ก็เลยไม่ได้กำหนดรายละเอียดของ argument และ attack relation ไว้ชัดเจน
พูดอีกอย่างก็คือ ผู้ใช้สามารถจะเอา AA ไปใช้ได้ โดยที่ต้องออกแบบรายละเอียดของ argument กับ attack กันเอาเอง (ดังนั้นก็จะพบว่าท้ายเปเปอร์ มีบทที่ใช้ AA อธิบาย semantic ของการทำ reasoning ในแบบอื่นๆเปรียบเทียบด้วย)

ถึงแม้ว่า AA จะไม่ได้บอกว่าต้องออกแบบ argument หรือ attack relation ยังไง แต่ก็บอกเอาไว้อยู่ว่า โอเค เมื่อเรามี argument ( เหตุผล) แล้ว และก็มี attack relation (ความสัมพันธ์ของเหตุผลทั้งหลาย) แล้ว เราก็จะมาดูกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรจะสรุปอะไรได้ ควรจะเข้าใจอะไรได้บ้าง จาก framework นี้

ก็มาพูดถึงเรื่องของ semantic ค่ะ ซึ่งมันก็คือ meaning หรือความหมายที่เราจะเข้าใจได้ใช่ไหมคะ  แล้วจาก framework นี้เราจะเข้าใจความหมายอะไรได้บ้างล่ะ
ในเมื่อ AA เองถูกออกแบบมาใช้อธิบายการทำ reasoning ในแบบที่ไม่มี intended model ซึ่งก็คือ ตัว AA เองไม่ได้เป็นคนกำหนด ว่าคนจะต้องคิดยังไง ได้ข้อสรุปอะไรจากสิ่งที่มี
แต่ว่า AA อธิบายว่า คนเราเนี่ยจะยอมรับในเหตุผลที่ตัวเองรับได้ ซึ่งก็คือเหตุผลที่ไม่ขัดแย้งกันเองในหัวเรา แล้วก็ defend ความคิดอื่นๆขัดแย้งกับเราได้

ก็เลยมีนิยามอันนึงที่เหมือนกับชื่อเปเปอร์ค่ะ on the acceptability ไงคะ ...
ซึ่งก็บอกไว้ว่า argument หลายๆอันที่เรามีอยู่เนี่ยจะ accept ได้(admissible set of arguments) ถ้า มันไม่ conflict(ขัดแย้ง) กันเอง แล้วมันก็ attack ทุกๆ argument อื่นๆที่พยายาม attack กลุ่มของมัน (อ่านนิยามของ admissible set of arguments ทวนได้นะคะ)

พูดง่ายๆคือ เหตุผลที่เรามีจะต้องไม่ขัดแย้งในตัวเองและสามารถที่จะตอบโต้กับเหตุผลที่คนอื่นๆเถียงเราได้ด้วยค่ะ :)  ฟังดูดุเดือดดีนะคะ ฮ่าๆๆ

ดังนั้นตอนนี้เรารู้ละว่า เซตของ argument ที่เรายอมรับจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไร

ต่อมาเราก็มาดูว่า เซตของ admissible arguments ใช้อธิบายอะไรได้บ้าง
เริ่มจากแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มค่ะ คือคนที่ skeptical ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ กับคนที่ credulous เลือกเชื่อมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไว้ก่อน

จากตัวอย่างเรื่องขนมเค้ก ไม่ว่าคนที่ skeptical หรือ credulous ก็จะสรุปว่า "หลานกินเค้กไป" ทั้งคู่ เพราะว่าเหตุผล A3 attacks A2 และ A2 attacks A1 โดยที่ไม่มี attack แบบอื่นๆเพิ่มอีก

ทีนี้ถ้าเกิดว่าต่อมา เราพบวันที่หมดอายุบนกล่องเค้กเป็นเมื่อวานพอดิบพอดี
 => A4: แม่อาจจะเอาคิดว่าเค้กหมดอายุแล้วเลยเอาทิ้งก็ได้

ซึ่งตรงนี้ข้อมูลเรามีจะได้ attack relation เพิ่มขึ้นมา คือ A4 attacks A3 และในขณะเดียวกันเอง A3 attacks A4 (เพราะว่า แม่ก็อาจจะให้หลานกินเค้กไปก็ได้)

ดังนั้นตอนนี้เรามี attack relation = {(A2,A1),(A3,A2),(A3,A4),(A4,A3)}
ดังนั้นถ้าเป็นคนที่ skeptical ก็จะไม่สรุปอะไรจากข้อมูลที่มีเลย  (ไม่ยอมรับ argument ใดเลย)
แต่ถ้าเป็น credulous ก็จะเลือกยอมรับเซตของ argument
{A1,A3} ซึ่งสรุปว่าหลานกินเค้กไป หรือ {A2,A4}ซึ่งสรุปได้ว่าหลานไม่ได้กินเค้กไป

เราเรียก เซตของ argument ที่คนที่ skeptical ยอมรับนี้ว่า grounded semantic  หรือ grounded extension
ส่วนเซต argument ที่คนที่เป็นประเภท credulous ยอมรับ จะเรียกว่า prefer semantic หรือ prefer extension

และมีอีก semantic นึงที่สำคัญคือ complete extension ค่ะ ซึ่งนิยามไว้ว่า มันคือเซตของ argument ที่รวมเอาทุก argument ที่มันสามารถ defend ได้มารวมไว้ในเซตของตัวเอง

ทีนี้วิธีการหา grounded extension ทำได้โดยการหาค่า least fix point ของฟังก์ชัน โดยที่เรากำหนดฟังก์ชันคือ F(S) ={A| S defends A}

ส่วนการหา prefer extension ก็หาได้จาก greatest fix point ของฟังก์ชันนั่นเองค่ะ

เพราะว่า complete extension จะสามารถมีได้หลายอันใช่ไหมคะ
อย่างตัวอย่างเรื่องขนมเค้ก
complete extension จะมี 3 เซตคือ
i) empty set
ii) {A1,A3}
iii) {A2,A4}

ดังนั้นเราจะเห็นว่า grounded extension ก็คือ minimal (set inclusion) complete extension ส่วน prefer extension คือ maximal (set inclusion) complete extension ค่ะ
ในตัวอย่างเรื่องขนม grounded extension (minimal complete extension) = empty set
ส่วน prefer extension (maximal complete extension) = {A1,A3} และ {A2,A4}

นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำเสนอในแบบของ stable extension (ถ้าใครเคยอ่านเปเปอร์ stable model ก็จะเข้าใจได้นะคะ) ซึ่งก็ถูกนิยามไว้ว่า มันคือเซตของ argument ที่ไม่ขัดแย้งในตัวเอง และ attack arguments อื่นๆทั้งหมดที่อยู่นอกเซตของตัวมัน

ซึ่งจากตัวอย่างเรื่องขนมเค้ก stable extension ก็จะมีสองเซตคือ  {A1,A3} และ {A2,A4} เพราะ เซตว่างนั้นถึงแม้จะไม่ขัดแย้งในตัวเอง แต่มันก็ไม่ attack argument อื่นๆที่อยู่นอกเซตของมันเลย

จบจากเรื่อง semantic แล้วในเปเปอร์ก็ได้ให้นิยามว่ากรณีใด ที่ argumentation framework  จะ coherent บ้าง(ถ้าเรามี prefer extension แต่หา stable extension ไม่ได้ แสดงว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆเลยค่ะ อย่างเช่นมี argument A ซึ่ง A attack ตัวเอง ก็ทำให้หา stable extension ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ coherent )

นอกจากนี้ก็ยังมีนิยามว่ากรณีใดที่จะมี grounded semantic ตรงกันกับ prefer และ stable บ้าง (ให้นิยามของ well-founded argumentation framework)

อีกบทที่สำคัญก็คือเปเปอร์ได้แสดงให้เห็นว่า สามารถใช้ argumentation อธิบาย semantic ของการทำ reasoning แบบอื่นๆได้ค่ะ ทั้ง default reasoning และรวมถึง logic programming
และเนื่องจาก logic programming มีวิธีการ implement แล้ว ก็ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราสามารถที่จะใช้ logic programming เป็นเครื่องมือในการ implement argumentation ก็ได้เช่นกันค่ะ (คือเรามี abstract argumentation อยู่แล้วก็ใช้อะไรก็ได้เป็นเครื่องมือในการ implement มันค่ะ)

สำหรับรายละเอียดเรื่อง semantic ของ argumentation กับ logic programming นี้เราขอยกยอดไปเล่าในโพสครั้งหน้าละกันนะคะ เพราะรู้สึกว่าโพสนี้จะยาวมากเกินไปแล้ว 😓

และเหมือนที่เราย้ำทุกครั้งว่าเราเองก็เป็นมือใหม่กับความรู้ด้านนี้ ถ้าท่านใดเห็นข้อผิดพลาดอยากจะแนะนำ หรืออยากพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทิ้งข้อความไว้ได้นะคะ เราเองมีความยินดีเป็นอย่างมากเลยค่ะ  เผื่อจะมีเพื่อนทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้นนะคะ อิๆๆ  ^ ^

วันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๑

ที่มา https://vaguevisages.com/2016/01/12/whisper-of-the-heart-and-the-tragedy-of-yoshifumi-kondo/

สวัสดีปีใหม่ทุกๆคนนะคะ 😊

เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านไปอีกปีแล้ว ปีที่แล้วเราได้อัพบล็อกเพียงครั้งเดียวเอง ทั้งๆที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะอัพทุกเดือน สรุปใจความได้ว่า ที่ผ่านๆมาเราตั้งเป้าหมายที่คิดจะทำไว้มากมายในปีก่อนๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ปี ๒๕๖๑ นี้เราก็เลยคิดตั้งใจใหม่ว่า จะกำหนดเป้าหมายเพียงน้อยๆ แต่จะต้องมุ่งมั่นทำให้สำเร็จให้ได้

สำหรับสิ่งที่ตั้งใจทำในปีนี้ คือ ตั้งใจว่าจะฝึกนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน เพราะเราไม่ได้ฝึกสมาธิมาหลายปีมากแล้ว ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ดีที่ควรจะทำ เราก็เลยตั้งใจจะทำสมาธิทุกเช้าหลังตื่นนอนค่ะ
หวังว่าเราจะบังคับตัวเองให้มีความเพียรพยายามรักษาสัญญากับตัวเองให้ได้นะคะ

อีกเรื่องคือ เป้าหมายหลักที่เราหันมาเริ่มต้นอีกครั้งในปีนี้สำหรับตัวเราคือ เราต้องการค้นหาตัวเองค่ะว่าเราอยากจะทำอะไร  ทั้งๆที่รู้ดีว่าคำตอบของคำถามนี้ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ และเราก็ได้ถามตัวเองมาเรื่อยๆ แต่ว่า...ก็ได้แต่หวังว่าจะเจอคำตอบนั้นสักวันค่ะ

รูปภาพด้านบนมาจากหนังเรื่อง whisper of the heart เป็นฉากที่เราชอบค่ะ พระเอกกับนางเอกเดินคุยกันไปเรื่อยๆ แลกเปลี่ยนความคิดความฝันความรู้สึกของตัวเอง  แล้วนางเอกก็พูดว่า ดีจังเลยนะที่พระเอกรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ในขณะที่ตัวเธอได้แต่ใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ ...

อีกฉากที่ชอบคือตอนที่คุณปู่เปรียบเทียบการเจียระไนอัญมณีกับตัวนางเอกพระเอกค่ะ  คุณปู่อธิบายว่า ในก้อนหินก็มีหยกที่สวยงามซ่อนอยู่ข้างใน ตอนเจียระไนอัญมณีชิ้นใหญ่ครั้งแรก เราอาจจะพบว่ามันไม่สวยก็ได้ และในก้อนหินนี้ก็อาจจะมีอัญมณีชิ้นเล็กๆที่สวยมากๆอยู่  ซึ่งมันต้องใช้เวลาขัดเกลาและเจียระไนจนกว่าจะเจอความสวยงามนั้น (จำประโยคที่แน่นอนไม่ได้ค่ะ แต่เข้าใจประมาณนี้)

เราชอบความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องนี้ทุกๆคนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคู่พระนาง คุณปู่ พ่อแม่นางเอก และเพื่อนร่วมชั้น เนื้อเรื่องพยายามสะท้อนสภาวะอุดมคติสำหรับคนในวัยนั้น และสุดท้าย หนังก็ทำให้เห็นด้วยว่า โลกที่เราคิดฝันว่าสวยงามมันมีความยากลำบากและน้ำตาปนอยู่ด้วย

เหมือนที่ตอนท้ายที่สุด ที่นางเอกต้องร้องไห้เสียใจผิดหวังที่ตนเองทำไม่ได้ดีพอ หลังจากได้ทดสอบตัวเองด้วยการแต่งนิทานเรื่องแรก และเธอก็พูดว่า แค่ต้องการทำมัน แค่นั้นไม่พอ เธอยังต้องเรียนรู้อีกมาก
ทำให้เธอเรียนรู้ว่าความใจร้อน วู่วามในตอนแรกที่เธอมี ความฝันว่าอะไรๆจะง่ายจะสวยงาม มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ทุกอย่างต้องผ่านการขัดเกลา และต้องการเวลา..

สุดท้ายแล้ว ขอกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่แห่งการเริ่มต้นใหม่ๆ อีกครั้งนะคะ :)